อัดฉีด ‘QE’ ดีมั้ยลุงตู่ ศก.ทรุดลึกกว่าที่คิด

27 ก.ย. 2563 | 00:30 น.

อัดฉีด ‘QE’ ดีมั้ยลุงตู่ ศก.ทรุดลึกกว่าที่คิด : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3613 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-30 ก.ย.2563 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

อัดฉีด‘QE’ดีมั้ยลุงตู่

ศก.ทรุดลึกกว่าที่คิด
 

     คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยพิจารณาจาก “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ-จีดีพี” ที่หดตัวติดลบแรงถึง 12.2% หนักสุดในรอบ 22 ปี นับจาก ปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนนั้นจีดีพี ไตรมาส 2/2541 หดตัวราว 12.5%
 

     มีการประเมินว่า ในไตรมาส 3/2563 เป็นต้นไป ภาพรวมของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจะดีขึ้น โดยเฉพาะ “การส่งออก” และ “การบริโภคภาคเอกชน” ที่หดตัวน้อยลงมาอย่างเห็นได้ชัด
 

     แต่ผมเห็นว่า เศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า ยังมี “เครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจ” อีกหลายตัวที่สะท้อนให้เห็น “ความน่ากังวล” เช่นหนี้สินของครัวเรือน หนี้สินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างเร็ว การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวอย่างมาก การปิดกิจการเพิ่มขึ้น การเลิกจ้างงาน ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวยังจมปลัก การใช้จ่ายงบประมาณและการอัดฉีดเงินลงไปของภาครัฐยังติดขัดในเรื่องการพิจารณาโครงการและ “การกั๊กเงินกู้ 1 ล้านล้านไว้ใช้” ยามฉุกเฉินเผื่อโควิดรอบ 2 ตลอดจนเครื่องมือทางการเงินของรัฐบาลเหลือน้อยลงในการขับเคลื่อนทางนโยบาย
 

กนง. มติเอกฉันท์คงที่ 0.5%

     ความน่ากลัวที่ผมว่านี่แหละ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลด “จีดีพี” ในปีนี้ลงจากเดิม 6% มาเป็นหดตัว 10% เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ที่ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจลงมาติดลบถึง 9.1% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.8%
 

     เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังติดกับดักการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศและการท่องเที่ยวที่สูงลิ่วจนแกะตัวเองไม่ออกจาก “โลกที่ติดเชื้อโรค”
 

     ถ้าการส่งออกที่เคยสร้างรายได้เข้าประเทศเดือนละ 20,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐพังพาบตาม “โลกที่ติดเชื้อโลก” ย่อมหมายถึงเม็ดเงินมาหล่อเลี้ยงผู้คนในประเทศในการสั่งซื้อสินค้า การจ้างงาน จะน้อยลงตาม
 

     ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับภาคบริการหดตัวลงจากที่เคยมีคนมาเที่ยวประเทศไทยปีละ 40 ล้านคน เหลือเพียง 6-9 ล้านคนเมื่อไหร่ เงินรายได้จากกลุ่มนี้ที่มีขนาดราว 12.5% ย่อมหายไปไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้าน
 

     เศรษฐกิจของไทยจึงอาจ “หดตัวลงลึก” กว่าที่ใครๆคิด
 

     เพราะมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนออกไปผ่านการท่องเที่ยว ผ่านการอัดฉีดตรงไปถึงมือคนนั้น ไม่สามารถกระจายการจ้างงาน กระจายรายได้ให้ยั่งยืนในระยะ 1-2 ปีนี้ได้แน่
 

     มติและข้อสรุปของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อคราววันที่ 5 สิงหาคม และวันที่ 23 กันยายน 2563 เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าเศรษฐกิจของไทยยังหนักหน่วงแม้ว่าจะหดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมและลากลาวไปถึงปี 2564  ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวลง และเชื่อว่ากว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนเดิมนั้นต้องใช้เวลากว่า 2 ปี
 

     เพราะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว  ตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน จึงอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
 

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563

     คณะกรรมการ กนง.จึงเสนอว่า 1.ในระยะข้างหน้ามาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น
 

     2.รัฐบาลจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย
 

     3.จัดมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ COVID-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
 

     4.ไทยจะเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง จึงควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์
 

     โจทย์คือรัฐบาลจะทำอย่างไรกับภาวะที่เม็ดเงินในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่วัดจากขนาดของจีดีพีประเทศที่หายไปไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท จากการทรุดตัวจนจีดีพีติดลบมากมายอย่างไม่เป็นมาก่อน
 

     ผมเห็นว่า การอัดฉีดเงินเชิงปริมาณเข้าไปในระบบ (QE) น่าจะเป็นคำตอบในการแก้ไขระบบเศรษฐกิจในทุกห่วงโซ่ของประเทศไทย
 

     เพราะการอัดฉีดเงินลงไปในระบบนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการเอกชนมีลมหายใจในการทำธุรกิจ และเกิดความกล้าที่ลงทุน เพราะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ

     ทว่า การตัดสินใจประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการอัดฉีดสภาพคล่องฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ต่อเศรษฐกิจในประเทศ จะเป็นการแทรกแซงตลาดเงิน ตลาดทุนครั้งแรกของประเทศ จะต้องอาศัยความกล้าหาญในการตัดสินของ “ผู้นำ” ประเทศ ใน 3 ส่วน
 

     1.นายกรัฐมนตรี 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 3.ผู้ว่าการธนาคารแหงประเทศไทย
 

     ทั้ง 3 คนจะต้องเข้าใจเหตุและผลที่ต้องแบกรับในการอธิบายกับประชาชนในประเทศว่า ทำไปทำไม? ประชาชนจะได้อานิสงส์จากมาตรการอัดฉีดเงินลงไปอย่างไร อย่าไปห่วงเรื่องมิติการเมืองที่มุ่งทำลายล้างกัน โดยไม่สนใจว่าผู้คนในประเทศกำลังเข้าตาจนกับภาวะความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ปากท้องแค่ไหน
 

     ขณะเดียวกันการใช้มาตรการคิวอีแบบไทย จะต้องมีวัตถุประสงค์ให้ชัดว่า เงินดอกเบี้ยต่ำที่อัดฉีดลงไป ผ่านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ เพื่อกดต้นทุนทางการเงินไว้ที่ระดับต่ำ เพื่อลดภาระหนี้ เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้ไม่กระทบกับการตกงาน
 

     ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล้าหาญอนุมัติให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแบบซอฟต์โลนได้ รัฐบาลก็กล้าหาญในการตัดสินใจอัดฉีดเงินเชิงปริมาณเข้าไปดูแลพยุงเศรษฐกิจได้ แต่ต้องปรับลดเงื่อนไขยิบย่อยที่ทำให้เงินไม่ออกไปให้หมดสิน
 

     เพราะบทเรียนของซอฟต์โลน และการออกมาตรการพยุงตลาดตราสารหนี้ของธปท.ในรอบที่แล้ว สะท้อนภาพความล้มเหลวในการปฏิบัติทางนโยบายเป็นอย่างดี มาตรการดีแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เป้าหมายที่วางไว้ก็ผิดพลาด
 

ความเห็นของกนง.

     โปรดอย่าบอกว่า มาตรการก่อนหน้าที่อออมาเพื่อค้ำยันระบบเครดิต และได้ผลแล้ว เด็ดขาด...ขอเถอะ
 

     ทำไมต้องออกคิวอีนะหรือ เพราะ 1.เพดานหนี้เงินกู้ของรัฐบาลใกล้จะชนมะรอมมะร่อ
 

     2.งบประมาณขาดดุลในระยะ 2 ปีนับจากนี้ไป ตัวเลขในช่วงสิ้นปีงบประมาณจะผิดพลาดไปจากที่ตั้งไว้ทั้งหมด ไม่เชื่อคอยดูกัน
 

     3.การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลผิดพลาดจากเป้าหมายที่ประเมินไว้ในการตั้งงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
 

     ถ้าไม่มีการเปิดช่องพิเศษด้วยการตัดสินใจอัดฉีดเงินผ่านมาตรการคิวอี จะไปกู้หนี้มาอย่างเดียวรัฐบาลพังพาบแน่...
 

     HSBC สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ ได้ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ว่า สัญญาณของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 อาจยังไม่ฟื้นตัว ขณะนี้ภาคเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ปัญหาหนี้ในครัวเรือนที่สูง ภาคการบริโภคที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ภาคการลงทุนของทั้งรัฐและเอกชนยังไม่มีการส่งสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งปัจจัยทั้งหมดส่งผลไปยังเศรษฐกิจปีหน้าให้ซบเซา
 

     HSBC ชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้ตัวเลขภาคการบริโภคในประเทศไทยส่งสัญญาณอ่อนแอมาก ตัวเลขเงินเฟ้อลดลงจนกลายเป็นเงินฝืด ด้านการท่องเที่ยวก็ยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัว เนื่องจากยังมีการแบนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอยู่ในขณะนี้
 

     HSBC ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข็นนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี
 

     ING สถาบันการเงินชื่อดังจากเนเธอร์แลนด์ ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า นโยบายการเงินของไทยตอนนี้นั้น แทบที่จะไม่เหลือแล้วด้วยซ้ำ เพราะดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.50% แต่ยังเข็นเศรษฐกิจไปไม่ถึงไหน
 

     รัฐบาลจะตัดสินใจทำหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ถ้าทำตามวิธีการเดิม จัดเงินกู้ลงไตรมาสละ 1 แสนล้านบาท ตามที่ประกาศ ผมว่าเข็นเศรษฐกิจที่ติดลบให้ฟื้นขึ้นมายากครับ และภาคธุรกิจจะพังพาบไปตามๆ กันแน่นอน...