ยื่นค้านทบทวนแบนสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

25 ก.ย. 2563 | 11:40 น.

เครือข่ายไทยแพนฯ ยื่นคัดค้านทบทวนการแบนสารพิษพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส พร้อมเปิดหลักฐานสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองใช้คำกล่าวอ้างบิดเบือนข้อมูลต่อกรรมการวัตถุอันตราย

เครือข่ายไทยแพน คัดค้านการทบทวนแบน 2 สารเคมี

 

วันที่ 25 กันยายน 63  เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พร้อมตัวแทนภาคีที่ร่วมสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ยื่นจดหมายต่อประธานกรรมการวัตถุอันตรายผ่านผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อคัดค้านการทบทวนแบนสารพิษพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ที่จะเกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 28 กันยายน 2563 ซึ่งมีวาระเพื่อพิจารณาที่ 4.3 เรื่องการดำเนินการ ข้อเสนอ และความเห็นเกี่ยวกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมอบหมายให้ปลัดกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้มีการทบทวนมติตามข้อเสนอของเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองและกลุ่มที่ต้องการล้มการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสตามที่ปรากฎเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้

 

โดยในวาระนี้จะมีการพิจารณาข้อเสนอสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ภายหลังที่ Thai-PAN ได้ทราบข่าวและตรวจสอบเนื้อหาของข้อเสนอทั้ง 2 ฉบับ พบการบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลจาก ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ และ Thai-PAN ดังนี้  1. สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยกล่าวหาว่างานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ ไม่น่าเชื่อถือและไม่สมควรถูกนำมาใช้อ้างอิงในการแบนพาราควอต โดยอ้างถึงเอกสารที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา และโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ตอบเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการศึกษา ไม่พบข้อมูลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้กระทรวงสาธารณาสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้บริหารระดับสูงและแพทย์จาก 3 โรงพยาบาลที่ร่วมทำวิจัย และ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ ได้จัดเวทีชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 โดยแสดงหลักฐานว่าการทำวิจัยและเอกสารตอบรับเข้าร่วมทำวิจัยของทั้ง 3 โรงพยาบาล รวมถึงเอกสารผ่านการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติ อีกหลายบทความ ดังนี้

 

1) Paraquat Exposure of Pregnant Women and Neonates in Agricultural Areas in Thailand 2) Glyphosate and Paraquat in Maternal and Fetal Serums in Thai Women 3) The Impact of Prenatal Organophosphate Pesticide Exposures on Thai Infant Neurodevelopment 4) Organophosphate urinary metabolite levels during pregnancy, delivery and postpartum in women living in agricultural areas in Thailand 5) A pilot study of maternal exposure to organophosphate pesticides and newborn neurodevelopment in Thailand

 

2. สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ชี้ประเด็นความแตกต่างของผลตรวจพาราควอตในผักระหว่าง Thai-PAN และ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบผลกันได้ เนื่องจากเป็นคนละตัวอย่างกัน มาจากแหล่งผลิต และช่วงเวลาเก็บตัวอย่างแตกต่างกัน โดย Thai-PAN เก็บตัวอย่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2560 ในขณะที่กรมวิชาการเกษตรเก็บตัวอย่างวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 - 31 มกราคม 2561 อย่างไรก็ตามผลวิเคราะห์ของกรมวิชาการเกษตรได้ชี้ให้เห็นว่าพาราควอตสามารถตกค้างในพืชผักได้ แม้จะไม่มีการฉีดพ่นพาราควอตโดยตรงบนพืชปลูกก็ตาม อีกทั้งในภายหลังยังปรากฎผลการสุ่มตัวอย่างของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงกุมภาพันธ์ 2562 ที่พบการตกค้างของพาราควอตในผักผลไม้ 39 จาก 168 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 23% ในจำนวนนี้มีปริมาณพาราควอตสูงกว่าค่า MRL 10 ตัวอย่าง ได้แก่ คะน้า ผักหวาน ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู กะหล่ำปลี และส้ม  3. เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองกล่าวถึงข้อมูลการตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร ใน 2 ประเด็น คือ หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยร่วมงานและไม่เคยเก็บตัวอย่างร่วมกับ Thai-PAN โดยอ้างอิงจดหมายตอบจากหน่วยงาน และในใบรายงานผลของ Thai-PAN ไม่พบการตกค้างของพาราควอต และพบการตกค้างคลอร์ไพริฟอสไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นการใช้เอกสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ดังนี้

 

ยื่นค้านทบทวนแบนสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

 

a. ในการแถลงข่าว Thai-PAN ชี้แจงชัดเจนว่าเป็นความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบางจังหวัดและภาคีเครือข่ายอื่นๆในพื้นที่ การใช้เอกสารจากสาธารณสุขจังหวัดเพื่อชี้ว่า Thai-PAN ไม่ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการเก็บตัวอย่างผักผลไม้ เป็นพฤติการณ์ลักษณะเดียวกับที่ใช้เอกสารจากกรมวิชาการเกษตรว่าไม่พบข้อมูลการขอใบรับรองสุขอนามัยพืชประกอบการส่งออกของ Thai-PAN แล้วสรุปว่า Thai-PAN ไม่ได้ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่อังกฤษ เป็นการกล่าวอ้างโดยบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ Thai-PAN

 

b. ตัวอย่างใบรายงานผลที่ถูกอ้างถึงเป็นฉบับที่ Thai-PAN โพสต์บนเพจเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ประกอบการชี้แจงการข้อกล่าวหาของเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองว่า Thai-PAN ไม่ได้ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ยังประเทศอังกฤษจริง ทั้งนี้ Thai-PAN ได้ส่งตัวอย่างผ่านห้องปฏิบัติการเอกชนที่มีมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ไปยัง Concept Life Science UK จึงไม่จำเป็นต้องขอใบสุขอนามัยพืชจากกรมวิชาการเกษตร และ  c. ในปี 2562 Thai-PAN ส่งวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) ซึ่งพาราควอตไม่ได้อยู่ในขอบเขตการวิเคราะห์ จึงไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือสรุปว่าไม่พบพาราควอตตกค้างได้ และในครั้งนั้น Thai-PAN พบคลอร์ไพริฟอสตกค้างเกินค่า MRL ใน 15 ตัวอย่าง

 

ยื่นค้านทบทวนแบนสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปัญหาของพาราควอตไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตกค้างในผักผลไม้ สิ่งแวดล้อม และขี้เทาทารกเท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้กว่า 60 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้ คือ มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่อมนุษย์สูง และรวมทั้งเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสันด้วย ส่วนปัญหาของ "คลอร์ไพริฟอส" คือ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการต่อระบบประสาทและสมองของเด็กแม้จะมีปริมาณน้อยที่สุดก็ตาม อีกทั้งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ (ชั้น 1B) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ซึ่งองค์การความปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป (European Food Safety Authority; EFSA) ได้สรุปว่า "ไม่สามารถกำหนดระดับการได้รับสารคลอร์ไพริฟอสที่ปลอดภัยได้ และไม่เข้าหลักเกณฑ์สำหรับการต่ออายุการใช้ได้อีก" ทำให้สหภาพยุโรปยกเลิกการใช้คลอร์ไพริฟอสเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

 

แนวโน้มของโลกในขณะนี้มุ่งสู่การผลิตที่ยั่งยืนและยกเลิกการใช้สารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ประเทศในเขตร้อนที่ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวกับประเทศไทย คือ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้ทยอยยกเลิกการใช้และกำลังจะยกเลิกการใช้พาราควอตแล้วหลายประเทศ เช่น บราซิล ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่าไทย 7.3 เท่า ปลูกข้าวโพดมากกว่าไทย 14.6 เท่า ยกเลิกการใช้พาราควอตเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ส่วนมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าไทย 7.4 เท่า ยกเลิกการใช้พาราควอตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ในขณะที่เวียดนามซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดใกล้เคียงกับไทยยกเลิกการใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2561 และไนจีเรีย ที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากกว่าไทย 4.9 เท่า ปลูกข้าวโพดมากกว่าไทย  4.4 เท่า พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าไทย 4.3 เท่า กำลังดำเนินการให้มีการยกเลิกโดยเร็ว

ยื่นค้านทบทวนแบนสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

 

นางสาวปรกชล กล่าวว่า “ปรากฏการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกทยอยยกเลิกการใช้สารพิษชนิดนี้ แสดงถึงการตระหนักเรื่องพิษภัยผลกระทบต่อเกษตรกรและแรงงานในภาคเกษตร รวมถึงประชาชนทั่วไปเป็นสำคัญ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างเรื่องไม่มีวิธีการจัดการวัชพืช หรือประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ หากแบนพาราควอต ไม่เป็นความจริง ดังนั้นเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ขอยืนยันให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายคงมติให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามมติของคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 และต้องไม่ยืดระยะการแบนออกไปอีก

 

ยื่นค้านทบทวนแบนสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

 

เนื่องจาก 1) เป็นเวลามากกว่า 3 ปี นับตั้งแต่ 5 เมษายน 2560 ที่คณะกรรมการร่วม 4 หน่วยงานในนามคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข มีมติให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกให้แก่เกษตรกร 2) หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ได้ยืดระยะเวลาบังคับใช้ไปแล้ว เป็น 1 มิถุนายน 2563 และยังยืดหยุ่นเวลาในการถือครองออกไปอีก 90 วัน จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเลื่อนการแบนออกไป”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยื่นหนังสือมติทบทวนแบนพาราควอต

 

บี้ทบทวนแบน "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส"