ถอดรหัส‘ลุงตู่’ ส่ง‘เฮลิคอปเตอร์ มันนี่’ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

26 ก.ย. 2563 | 07:00 น.

 

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย  โดย  บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,613 หน้า 10 วันที่ 27 - 30 กันยายน 2563

 

 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ วันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาอนุมัติการอัดฉีดเงินครั้งใหญ่มูลค่ากว่า 7.1 หมื่นล้านบาท ด้วยการนำเงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หรือ “พ.ร.ก.เงินกู้” มาใช้ในลักษณะแจกเงินถึงมือประชาชนโดยตรง หรือ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเจ้าไวรัสตัวจิ๋ว โควิด-19  

หลังวิกฤติิโควิด-19 ระบาด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เงินจาก พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อัดฉีดเงินในลักษณะ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ไปแล้วหลายมาตรการวงเงินกว่า 3.4 แสนล้านบาท  

ประกอบด้วย การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนภายใต้โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” กรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท มาตรการเยียวยาเกษตรกรกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท การเยียวยากลุ่มเปราะบาง กรอบวงเงิน 20,345 ล้านบาท การช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่ง รัฐ กรอบวงเงิน 3,493 ล้านบาท การเยียวยาชดเชยรายได้ลูกจ้าง 897 ล้านบาท

หากดูจากรายงานภาวะเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าผลจากการอัดฉีดเงินกู้ ลงไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด ในรอบแรก สามารถพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ดำดิ่งลงไปมากได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ 7.8% ดีกว่าที่ประเมินว่าจะติดลบ 8.1% เล็กน้อย 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก หากดูจากการประมินของหน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจต่างๆพบว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 63) เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวในอัตราที่ติดลบประมาณ 5-6% เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักๆ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน ตัวเลขยังติดลบ มีเพียงตัวเดียวที่จะประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงไปมาก นั่นก็คือ การใช้จ่ายเงินของภาครัฐ  

ประเมินกันว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินลงไปในระบบให้ได้มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เพื่อประคองให้เศรษฐกิจในปีนี้ติดลบในระดับ 7-8% 

นั่นจึงเป็นที่มาของการใช้นโยบาย “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ที่จะมีการแจกเงินถึงมือประชาชนก้อนโต ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง และการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินรวม 51,000 ล้านบาท

 

 

 

 

โครงการค่าตอบแทน อาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) กว่า 1 ล้านคน วงเงิน 1,575 ล้านบาท  การเพิ่มค่าตอบแทนกรณีพิเศษ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เป็นระยะเวลา 7 เดือน วงเงิน 677 ล้านบาท 

นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ 2.6 แสนคน โดยภาครัฐและเอกชน ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงินไม่เกิน 19,462 ล้านบาท การขยายมาตรการช่วยค่าไฟ-ค่านํ้า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 1 ปี รวมไปถึงการเพิ่มวันหยุดราชการกรณีพิเศษเดือนพ.ย.และธ.ค.หยุดยาว 4 วัน กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ 

 

 

ถอดรหัส‘ลุงตู่’ ส่ง‘เฮลิคอปเตอร์ มันนี่’  ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอัดฉีดเงินของภาครัฐเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงนี้มีความสำคัญอย่างมาก และยังมีความจำเป็นที่จะต้องอัดฉีดอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เพราะหากดูจากการประเมินตัวเลขจีดีพีก่อนหน้านี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบ 8.1% จะทำให้มูลค่าจีดีพีของประเทศหายไปประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท กล่าวคือ ลดลงจาก16.8 ล้านล้านบาทในปี 2562 มาอยู่ที่ 15.5 ล้านล้านบาท ในปีนี้  

ขณะที่มูลค่าจีดีพีในปี 2564 ที่หลายสำนักประเมินว่าจะขยายตัวประมาณ 3.5-4% นั้น ก็จะอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท ยังไม่กลับสู่ระดับเดิมก่อนวิกฤติิโควิด-19 และค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยจะกลับเข้าสู่ระดับเดิมประมาณกลางปี 2565  

 

 

 

 

สอดคล้องกับการประเมินของธปท.ที่ เห็นว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทาย ความไม่แน่นอนสูงอีกหลายด้าน ทั้ง ภาวะเศรษฐกิจโลก มาตรการจ้างงานและการลงทุนของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และสถานการณ์โรคโควิด-19 รวมถึงมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจะต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่าสองปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนแพร่ระบาด  

ดังนั้น การใช้นโยบาย “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” จึงมีความสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาวิกฤติิเศรษฐกิจครั้งนี้ อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่หลายๆ ประเทศในโลกนำมาใช้  เพราะเชื่อว่าเมื่อประชาชนได้รับเงิน ก็จะนำไปจับจ่ายใช้สอยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้  

แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่จะตามมาจากการอัดฉีดเงินจำนวนมากของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ คือ ตัวเลขหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังประเมินว่า ในสิ้นปี 2563 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 7.73 ล้านล้านบาท หรือ 49.7% ของจีดีพี จากนั้นจะปรับเพิ่มเป็น 8.54 ล้านล้านบาท หรือ 50.8% ของจีดีพี ในสิ้นปี 2564 และ 9.29 ล้านล้านบาท หรือ 54% ของจีดีพี ในสิ้นปี 2565