ดึงอัตลักษณ์ “มัดหมี่” ท้องถิ่นสร้างยอดขายกว่า 2 ล้านบาท

20 ก.ย. 2563 | 12:35 น.

“กระทรวงอุตสาหกรรม” หนุนสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พัฒนาผู้ประกอบการ ยกระดับผ้าท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า 40 % ตั้งเป้าสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง โดยสนับสนุนให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงสู่ศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ และสกลนครเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ

โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 (ระยะที่1) ได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผ้าทอพื้นเมือง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องแต่งกายผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและสามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและสร้างรายได้ในท้องถิ่น ก่อให้เกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการพัฒนาต่อยอดการดำเนินธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอและวิสาหกิจชุมชน ขับเคลื่อนต่อเนื่องจนถึงปี 2563 (ระยะที่ 2)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ผู้ประกอบการและวิสาหกิจกว่า 1,170 คน ได้รับการฝึกอบรมเข้าปฏิบัติการและมีการพัฒนาผ้าไหมลวดลายใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้าและเครื่องประดับกว่า 76 ผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มและแตกต่างผสมผสานกับเทคโนโลยี และการส่งเสริมด้านการตลาด โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เข้าร่วมการทดสอบตลาดสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 2.1 ล้านบาท และมีศักยภาพในการจ้างงานเพื่อรองรับ  คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า การดำเนินโครงการในปี 63 นี้ได้มีการศึกษาวัฒนธรรมและวิถีท้องถิ่นเพื่อนำมาสร้างลายมัดหมี่แบบใหม่ที่ทันสมัยแต่รักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น พร้อมนำวัสดุและเส้นใยใหม่มาทอร่วมกับผ้าไหม และออกแบบตัดเย็บโดยดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ ๆ โดย “มัดทอใจ : มรดกไทยร่วมสมัย” (Mud Tor Jai : Modern Heritage Thai Textile) ในคอลเล็คชั่นปี 2020 คือ “Journey of Natural – การเดินทางของธรรมชาติ” แบ่งออกเป็น 4 แนวคิด 4 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่

1.จังหวัดขอนแก่น : งามสง่าเหลืองดอกคูนบานสะพรั่ง Beautiful Dokkoon Blossom ลวดลายผ้าดอกคูน กลีบดอก ช่อดอก ใช้เส้นใยฝ้ายผสมเส้นใยผักตบชวา,ไหมอีรี่ เทคนิคการผลิตด้วยการย้อมสีธรรมชาติจากต้นกระถิน, ครั่ง  การพิมพ์ลายแบบ digital print ตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้และมุก

2.จังหวัดนครราชสีมา : มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติป่าเขาใหญ่ “Lost in Khao Yai Forest” ลวดลายผ้า ธรรมชาติป่าเขาใหญ่ น้ำตก ใบไม้ / ผีเสื้อ ใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ผสมเส้นใยกัญชงเส้นใยฝ้ายผสมเส้นไหมอีรี่แบบตีเกลียวย้อมสีเทคนิคการผลิตด้วยการย้อมสีธรรมชาติจากใบมะม่วง การพิมพ์ลายแบบ digital print, การสกรีนตกแต่งด้วยคริสตัล

              3.จังหวัดสุรินทร์ : เสน่ห์หัตถศิลป์โบราณ เครื่องเงินเขวาสินรินทร์ “The Charm of Ancient craftsmanship, Khwao Sinarin Silverware” ลวดลายผ้าเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ ลายกลีบบัว ลูกปะเกือม ลายดอกพิกุล ใช้เส้นใยฝ้าย 50% ผสมเส้นไหม 50% เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมะยม, แก่นขนุน ตกแต่งด้วยคริสตัลและการปักลายการอัดพลีทผ้าไหม

4.จังหวัดสกลนคร : จังหวะสีสันวัฒนธรรมผ้าย้อมคราม “The Rhythm of Indigo Blue” ลวดลายผ้า เป็นศิลปะการย้อมสีครามธรรมชาติ ใช้เส้นใยฝ้ายผสมเส้นใยใบสับปะรด เทคนิคการย้อมครามไล่เฉดสี และการปักแบบ sashiko

              ในภาพรวมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงสู่ศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาค ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2563 ภายใต้แนวคิด มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอผ่านการพัฒนาและออกแบบในความเป็นไทย บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่

ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการผ้าพื้นเมือง 660 คน มีการพัฒนาผ้าไหมลวดลายใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้า เครื่องประดับ และของตกแต่ง 36 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ “มัดทอใจ : มรดกผ้าไทยร่วมสมัย” โดยมีมูลค่าสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% พร้อมสร้างความร่วมมือแฟชั่นระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงการผลิต เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย และสร้างโอกาสทางการตลาดในประเทศและตลาดโลก