ตลาดบ้านสร้างเอง  อีกความหวังอสังหาฯไทย    

20 ก.ย. 2563 | 08:09 น.

 

 เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย มูลค่ามหาศาล 7 แสนล้านต่อปี ไม่ได้ถูกกระทุ้งผ่านเพียงโครงการหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ราคาถูกยันแพงขนาดน้อย-ใหญ่ในระบบทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีชะตากรรมไม่แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่กำลังถูกพิษของสถานการณ์โควิด-19 เล่นงานจนผู้ซื้อบางกลุ่ม บางทำเลลืมหูลืมตาไม่ขึ้น คาดอย่างต่ำทั้งปีในแง่การโอนกรรมสิทธิ์คงหายไปราว 30% เพราะแม้ตลาดมีสัญญาณบวกการซื้อ-ขายเริ่มฟื้นหลัง

 

คลายปลดล็อก แต่จากฐานที่เติบโตมาตลอดต่อเนื่อง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงตัวเลขประมาณการ จีดีพี (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ลบลงแรงล่าสุด ถึง 8.1% และความไม่แน่นอนของโรค ซึ่งอาจกลับมาระบาดรอบสอง ยังเป็นปัจจัยรั้งตัวใหญ่ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของศูนย์อสังหาริมทรัพย์ (ธอส.) พบอีกตลาดที่มีความสำคัญต่อภาคอสังหาฯไม่แพ้กัน คือ “ตลาดบ้านสร้างเอง” ครอบคลุม การสั่งสร้างผ่านบริษัทรับสร้างบ้าน และผู้รับเหมารายย่อย-รายใหญ่ ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท และหากคำนวณในเชิงสัดส่วนเปรียบเทียบทั่วประเทศ ระหว่างบ้านจัดสรร และบ้านสร้างเอง ตลาดสร้างเอง กลับมีจำนานมากกว่าที่40:60 มีอัตราเติบโตขึ้นทุกปี แม้แต่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ก็พบจำนวนช่วงปี 2562 เพิ่มขึ้น 3% อยู่ที่ราว 18,000 หลัง นอกจากนี้ ยังมีที่ดินว่างเปล่าอีกไม่น้อยกว่า 120 ล้านตารางเมตร โดยในจำนวนนี้กว่า 50% อยู่ใน 10 เขตหลักที่เป็นพื้นที่สำหรับ “บ้านสร้างเอง” ทั้งสิ้น
    ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนผ่านการบอกเล่า ของนายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งบ่งบอกถึงโอกาสของ “ตลาดบ้านสร้างเอง” โดย มีเรียลดีมานด์ (ความต้องการเพื่ออยู่อาศัยจริง) เป็นตัวรองรับอย่างแท้จริง และไม่มีการลงทุนเก็งกำไรเผื่อผสม แต่ด้วยสถานการณ์โควิด คาดตลอดทั้งปี นับแค่ในกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านของสมาคมจำนวน 50 ราย ซึ่งเดิมเป็นสัดส่วนกระตุ้นตลาดในทุกๆปี ราว 25% นั้น ยอดขายคงลดลงราว 10% จากเป้าหมายที่วางไว้ 1-1.2 หมื่นล้านบาท 
  

 

 

 ทั้งนี้ ไม่ได้กังวล แต่กลับเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้า หรือกลุ่มคนสั่งสร้างบ้าน เนื่องจากตลาดนี้มีความแตกต่างจากลูกค้าในโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งส่วนใหญ่มักพึ่งพาระบบการขอสินเชื่อจากธนาคาร และมีปัญหาถูก
ปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์) สูงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ตลาดบ้านสร้างเอง ลูกค้าส่วนใหญ่ จะมีการวางแผนล่วงหน้า 5-6 เดือน ผ่านการเก็บเงินสะสม โดยมีการยื่นขอสินเชื่อธนาคารเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ ทั้งฝากผู้ประกอบการ และฝากผู้บริโภค รอเพียงมาตรการกระตุ้นจากรัฐ โดยเฉพาะข้อเสนอ ซึ่งสมาคมขอให้รัฐบาลสนับสนุนตลาด ผ่านการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา 2% ของค่าปลูกสร้าง ในระยะ 5 ปี และยกเว้นภาษีที่ดินว่างเปล่า (ไม่เกิน 200 ตารางวาต่อคน) สำหรับปลูกสร้างบ้าน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจในทุกแง่ได้ ทั้งเปิดช่องให้ประชาชนมีบ้านได้ง่ายขึ้

 

“บ้านสร้างเอง 2 แสนล้านบาท ถูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยจริง ต่างจากตลาดหลัก ซื้อแล้วไม่อยู่ มีฟองสบู่ ฉะนั้น ทำอย่างไรให้ตลาดนี้ยังคงอยู่ เพราะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยังคงมี โดยมาตรการด้านภาษีที่เสนอ รัฐสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นผลดีไม่เฉพาะธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่เม็ดเงินนับแสนล้านจะหมุนเวียนไปยังธุรกิจปลายน้ำอื่นๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ฯ มีความหมายมากกว่านำเงินอัดแจกใส่มือประชาชน คาดเร็วๆนี้คงมีข่าวดี”

 

นายวรวุฒิ ยังกล่าวว่า ขณะนี้เปรียบเป็นจังหวะดีของผู้บริโภคในตลาดรับสร้างบ้านอย่างมาก หลังจากวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับลดลงราว 5% และต่อรองได้ ขณะผู้ประกอบการต่างกังวลถึงความไม่แน่นอนในอนาคต ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจโลก หรือไวรัส จึงพากันทำการตลาดผ่านการลดค่าปลูกสร้างตั้งแต่ 5-20% ซึ่งสูงมาก หรือให้ราคาเดิม แต่เพิ่มสเปกให้ และบางส่วนใช้วิธีเสนอบริการเสริม อื่นๆพ่วงเข้าไปด้วย เพื่อดึงดูดยอดออเดอร์ หวังตุนไว้ในมือมากๆ ทำให้ช่วงที่ผ่านมา บริษัทรายใหญ่ ซึ่งโหมทำการตลาดอย่างหนัก กลับมียอดขายเติบโตเกือบเท่าตัว สะท้อนความมั่นคงของตลาด ว่ายังไปได้ต่อท่ามกลางวิกฤติ 
  

 

 

 

 ขณะกลุ่มบ้านราคา 4-5 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นจากฐาน 3 ล้าน ก็บ่งบอกว่ากลุ่มผู้บริโภคของตลาดนี้ มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ 
    ทั้งนี้ สมาคม เตรียมลุยจัดงาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2020” ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ หลังจากยกเลิกไปเมื่อช่วงต้นปี 2563 คาดจะเป็นอีกช่องทางในการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯในส่วนของผู้ต้องการปลูกสร้างบ้าน ซึ่งยอดที่เกิดขึ้น อาจการันตรีได้ว่า ตลาดดังกล่าวไปต่อได้ เหนือวิกฤติ? 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,611 วันที่ 20 - 23 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

อสังหาฯ อลหม่าน ปรับทัพรับศึก โควิด