อสังหาฯ อลหม่าน ปรับทัพรับศึก โควิด

20 ก.ย. 2563 | 03:03 น.

โควิดช็อก สะเทือนยอดขายอสังหาฯวูบ รายใหญ่ปรับทัพตั้งรับศึกกำลังซื้อ พฤกษาเขย่าหนัก ลูกหม้อใหม่-เก่าหลุด ชิมลางบริษัทเพื่อนบ้าน ล่าสุดหญิงแกร่งมือขวานักสร้างแบรนด์ “สุพัตรา” อำลาอีกราย ขณะไรมอนด์แลนด์ ส่อปรับใหญ่ หลังตั้ง “กรณ์ ณรงค์เดช” ขึ้น COO

 

 

 

เกมการแข่งขันของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เกิดภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีโควิด-19 คลื่นความท้าทายลูกใหม่ที่ใหญ่และแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งไหนๆ เป็นตัวเร่ง ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากความสามารถในการทำกำไรสุทธิ ณ ครึ่งปีแรก 2563 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ 36 ราย ลดฮวบกว่า 55% เหลือ 10,714 ล้านบาท ขณะรายได้รวม ลดลง 19.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือรายได้รวม 143,202 ล้านบาท สรุปความสามารถในการทำกำไรหดตัวเฉลี่ยทั้งตลาดอยู่ที่ 7.48%

 

ลางร้ายจากโอกาสการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด ผสมปัญหาเรื้อรัง ภาวะเศรษฐกิจไทยถดถอย คู่ค้าและภาคการท่องเที่ยวรายได้กู่ไม่กลับ นอกจากกลายเป็นแรงบีบให้บริษัทอสังหาฯ เปลี่ยนแปลงในแง่การลงทุนใหม่ ชะลอการเปิดโครงการและหันมาควบคุมค่าใช้จ่าย บริหารสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการเร่งขาย เร่งโอน และเร่งระบายสต็อกแล้ว ในเชิงการบริหาร วางกลยุทธ์  ตัดสินใจและวางแผนโดยตัวบุคคลเพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับการดำเนินธุรกิจรับความเสี่ยงใหม่ๆ ก็เป็นอีกแง่ที่เกิดภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด  ซึ่งเกิดขึ้นแม้กระทั่งรายใหญ่สุดของตลาดอย่างบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เริ่มตั้งแต่ ช่วงเดือนเมษายน เกิดบิ๊กเซอร์ไพร์ส เมื่อนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ซึ่งดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้นเป็น

อสังหาฯ อลหม่าน  ปรับทัพรับศึก โควิด

ผู้บริหารในกลุ่มพฤกษาพรีเมียม ดูแลพอร์ตคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ ลาออกอย่างเงียบๆ ก่อนมีกระแสข่าว ว่าจากประสบการณ์ 27 ปีในวงการอสังหาฯ ของนายประเสริฐเข้าตาและได้รับไว้วางใจจาก บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้เข้ารับตำแหน่งสำคัญ COO หรือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนและรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งกลุ่มคอนโดฯและบ้านแนวราบของอนันดา โดยล่าสุด (14 ก.ย.) หลังเก็บตัวเงียบเป็นระยะเวลานาน 4 เดือน ก็ปรากฎตัวต่อสื่อมวลชนเคียงคู่ผู้บริหารอนันดา “ชานนท์ เรืองกฤตยา” เป็นครั้งแรก ในงานแถลง “Ananda The New Iconic” เปิดตัวโครง

การคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก-พระราม 9 ทั้งนี้ นายประเสริฐ เผยถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ว่า แม้ปีนี้อนันดา ไม่มีการเปิดโครงการใหม่เนื่องด้วยตั้งรับสถานการณ์แต่มูลค่าของโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ที่บริษัทพร้อมจะส่งมอบ (โอนกรรมสิทธิ์) ให้ลูกค้าในช่วงครึ่งปีหลังทั้งหมด 5 โครงการ จะมีมูลค่าใหญ่สุดในอุตสาหกรรม ผ่านตัวเลขมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความตื่นตัวและคึกคักให้กับตลาดในภาวะนี้ได้อย่างดี พร้อมเปรยถึงกลยุทธ์ การทำธุรกิจในอนาคต ว่าจะผลักดันแผนการตลาดใหม่ๆ มากขึ้นทิ้งท้าย 

 

ความเปลี่ยนแปลงของพี่ใหญ่ในวงการ “พฤกษา” ยังเกิดขึ้นเมื่อบริษัทให้ข่าวประกาศแต่งตั้ง นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-แวลู ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท (CEO-PS) แทนที่นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ที่ขึ้นไปบริหารจัดการธุรกิจในกลุ่มพฤกษา โฮลดิ้ง เป็นหลัก ซึ่งระหว่างทาง ยังพบว่า ลูกหม้ออีกคน นายธีรเดช เกิดสำอางค์ ซึ่งเป็นผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-ทาวน์เฮาส์ เติบโตมาพร้อมกับนายปิยะ ก็โบกมือลาออกจากบริษัท ในช่วงเดือนสิงหาคมเช่นกัน โดยไม่แน่ชัดในเหตุผลที่แท้จริง

               

ล่าสุด (16 ก.ย.) กลายเป็นที่ฮือฮาอีกครั้ง เมื่อปรากฏข่าว นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ บอสใหญ่ แสดงความขอบคุณและอำลา นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ หลังเข้ามาบริหารนานกว่า 3 ปี ในตำแหน่งสุดท้าย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพฤกษา โฮลดิ้ง  ซึ่งที่ผ่านมา เธอเป็นหัวเรือใหญ่ในการพลิกโฉมพฤกษา ผ่านการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ และนำมาซึ่งวิสัยทัศน์ “พฤกษา ที่หนึ่งในใจคนไทย ที่หนึ่งในตลาด” รวมถึงโลโก้ภาพลักษณ์ใหม่ในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ต้องจับตารูปแบบการบริหารงานใหม่ของไม้ต่อ ซึ่งถูกดันขึ้นอย่างรวดเร็ว ในมือนายปิยะ หลังต้องยอมรับว่า มีประสบการณ์และบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการ ทั้งแนวราบ แนวสูงของกลุ่มพฤกษามานานกว่า 27 ปี ท่ามกลางโจทย์หินของตลาดนับหลังจากนี้

 

การจัดทัพผู้บริหารใหม่ ยังเกิดขึ้นกับบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ ระดับลักชัวรี หลังล่าสุด บริษัทมีมติแต่งตั้ง นายกรณ์ ณรงค์เดช ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ อีกทั้ง “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจพบ ก่อนหน้าไม่กี่วัน บริษัทมีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ถึงการลาออกทุกตำแหน่งของนายลี ไลโอเนล ซึ่งเดิมดำรงตําแหน่งสูงสุด ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและกรรมการบริษัท โดยแต่งตั้งนายสถาพร อมรวร พักตร ขึ้นรักษาการแทนซึ่งเมื่อสอบถามถึงความเปลี่ยน แปลงดังกล่าวไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไรมอนแลนด์ ก็มีการระบุเพียงสั้นๆ ว่า บริษัทอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างภายใน และพนักงานเองยังคงรอความชัดเจนเช่นกัน โดยนับเป็นการตัดสินใจในช่วงวิกฤติที่น่าจับตามอง หลังเดิมบริษัทอยู่ในมือผู้บริหารฝั่งสิงคโปร์มายาวนาน

              

 

 

  ทั้งนี้ก่อนหน้า นายลี ไลโอเนล เคยออกมาระบุว่า โควิด เป็นสถานการณ์บีบบังคับ ทำให้ผลประกอบการครึ่งปีแรก รายได้ลดลงถึง 55% และขาดทุน 269 ล้านบาท หลังจากการปิดประเทศทำให้ลูกค้าต่างชาติ 49% เข้ามารับโอนกรรมสิทธิ์ในโครงการคอนโดมิเนียมไม่ได้ อย่างไรก็ตามยังฟันธงไม่ได้ว่า การปรับทัพใหม่ยกชุดมาจากการทำงานที่มีอุปสรรค เพราะเป็นจังหวะสำคัญจากการที่กลุ่มบริษัทเคพีเอ็น แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นของตระกูลณรงค์เดช ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของไรมอนแลนด์ก่อนหน้าด้วย ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททันที อีกทั้งมีผู้ถือหุ้นใหม่ ชื่อบริษัท เมซ่า ไทย กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ เข้ามาถือหุ้นเป็นอันดับ 2 เพิ่มเติม ทั้งนี้ นายกรณ์ระบุ เตรียมขับเคลื่อนบริษัทให้ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งผลดำเนินงาน ตลอดจนผลกำไร ซึ่งน่าสนใจในเชิงกลยุทธ์ หลังมีการดึง นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เข้ามานั่งเป็นประธานกิติมศักดิ์ให้คำปรึกษาในการวางกลยุทธ์บริษัทอีกด้วย

                ด้านนายอธิป พีชานนท์ ผู้คว่ำหวอดในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า แม้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหาร จะเป็นเรื่องภายในของบริษัทนั้นๆ แต่ภาพที่สะท้อนอย่างชัดเจน คือ การทำธุรกิจอสังหาฯ นับหลังจากนี้ยังอยู่กับความเสี่ยง และยากขึ้น ต้องอาศัยความสามารถในการรับมือและวางกลยุทธ์ เพราะสถานการณ์ภายนอกซึ่งควบคุมไม่ได้ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจโลก ไปจนถึงการระบาดซ้ำของโควิด หากการผลิตวัคซีนยังไม่สำเร็จอาจทำให้แนวโน้มทางการเงินสภาพคล่อง หรือรายได้ของบริษัทอสังหาฯ บางรายอ่อนแอลง โดยเฉพาะรายเล็ก ที่ไม่พร้อมในการลงทุนใหม่ ขณะรายที่ต้องการอยู่ต่อ ก็มีความเป็นไปได้ที่ใช้รูปแบบการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ มาร่วมทุน (JV) ทั้งร่วมกันเองกับผู้ประกอบการภายในประเทศ หรือ กับกลุ่มทุนต่างชาติมากขึ้น รวมไปถึง การควบรวม หรือซื้อกิจการ (M&A) เนื่องจากอนาคต การยื่นขอสินเชื่อสำหรับการพัฒนาโครงการจากภาคธนาคาร น่าจะเป็นไปอย่างเข้มงวดมากขึ้น ขณะการออกหุ้นกู้ทำได้ยากและแพงขึ้นทางเลือกน้อยลง

              

 

 

 

  อย่างไรก็ตาม โควิด เปรียบเป็นอีกหนึ่งปัจจัยชี้วัด ว่าที่ผ่านมา บริษัทนั้นๆมีความแข็งแกร่ง ท้าทายกับสถานการณ์ใหม่ๆได้ดีมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในการวางฐานรากตั้งแต่เรื่องคน การเงิน ไปจนถึงกลยุทธ์ ว่ามาอย่างถูกที่ถูกทางหรือไม่ เพราะผลกระทบเกิดขึ้นได้หมด หากไม่ระมัดระวัง แม้แต่รายใหญ่เองก็ตาม

                “โครงสร้างของบริษัทถูกวางมาแตกต่างกัน ไม่ใช่ความผิดของคนตัวเล็ก หากจะล้มเพราะโควิด แต่หากให้เปรียบความเป็นอยู่ตอนนี้ บริษัทคงเหมือนต้นไม้โดนพายุ ขึ้นอยู่กับ ว่าจะลู่ลมทนแรงไหวไหม บางต้นต้นใหญ่จริง แต่ฐานไม่มั่งคงก็ล้มได้  ขณะบางต้นต้นเล็กแต่ลู่ลมเก่ง ก็รอดได้”

                นายอธิป ยังกล่าวว่า หากตลาดอสังหาฯในปี 2564 ไม่ฟื้นตัว หรือมีแนวโน้มแย่ลงกว่าเก่าอาจได้เห็นข่าวการปลดลดคนในอุตสาหกรรมอสังหาฯ เกิดขึ้นน้อยมากแตกต่างกันออกไป จากเหตุผลเดียวกัน คือ รายรับ ไม่พอรายจ่าย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในบริษัทซึ่งมีคนอยู่ในระบบมากเกินความจำเป็น แต่ส่วนใหญ่ มักเป็นการว่าจ้างบริษัทภายนอกรับเหมาเป็นส่วนงานรายครั้ง เช่น งานก่อสร้าง งานขาย จึงไม่น่ากังวล พร้อมฝากเตือน ถึงการลงทุนใหม่ๆ ว่าควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบ เพื่อตั้งรับกับเศรษฐกิจภายในประเทศ การส่งออก หรือ ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่อาจยังไม่ฟื้นตัวเร็ววัน

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,611 วันที่ 20 - 23 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช็อก! “แสนสิริ” เลิกจ้าง600คน เช่นโควิด -อสังหาฯทรุด 

“อสังหาฯ" ทรุดหนัก รัฐบาลต้องช่วย!

"อสังหา" ซึมยาว ใช้เวลา 5 ปีฟื้น