“นิพนธ์”ห่วง”โนอึล”ถล่มอีสาน ย้ำรักษาชีวิตปชช.

19 ก.ย. 2563 | 15:31 น.

“นิพนธ์”เกาะติดสถานการณ์ พายุ"โนอึล" ห่วงพื้นที่ประสบภัยภาคอีสาน ยังไม่คลี่คลาย ย้ำทุกฝ่ายรักษาชีวิตประชาชนไว้เป็นสำคัญ

 

วันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.2) ร่วมประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือผลกระทบจากอิทธิพลพายุโนอึล ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลถ่ายทอดสัญญาณจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ  โดยมี องคมนตรีเข้าร่วมรับฟังการประชุม  และมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือผลกระทบจากอิทธิพลพายุโนอึล 


โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลร่วมกับนายชยพลฐิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  และหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยร่วมในการประชุม ณ ห้องประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร

    ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้รับฟังรายงานถึงสถานการณ์โดยรวมจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด  พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้มีการเตรียมความพร้อม ทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักรกล รวมถึงกำลังคนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวัง พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน หากได้รับผลกระทบจากพายุโนอึล รวมถึงการเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มด้วย   

อีกทั้งได้สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้มีการเตรียมความพร้อม  ในการติดตามสถานการณ์ของพายุโนอึลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในพื้นที่ 

รวมถึงประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการจัดเวรยามเฝ้าระวังในพื้นที่ หากเกิดความรุนแรงเนื่องจากได้รับผลกระทบของพายุโนอึล จะได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เพื่อลดความสูญเสียชีวิต ของประชาชน รวมถึงการจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว พร้อมทั้งอาหาร  และเครื่องดื่มไว้ช่วยเหลือประชาชน 

 

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้จังหวัดทุกจังหวัด ต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี โดยมีการวางแผนร่วมกับกรมชลประทาน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการน้ำ ให้มีแก้มลิงแหล่งเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ที่จะมีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี เมื่อหน้าแล้งปีหน้ามาถึง

    นายนิพนธ์ กล่าวว่า กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้มีแผนตามที่จะเผชิญเหตุไว้หมดแล้วซึ่งทุกจังหวัดได้มีการเตรียมการที่ดีตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเหตุมันก็คือการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้ติดตามหตุข่าวสารข้อมูลจากทางราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้เห็นพัฒนาการของสถานการณ์และทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ หรือว่ามรสุมต่างๆ 

รวมทั้งการแจ้งเตือนเพื่อให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าว ในสถานการณ์ที่อยู่ในช่วงที่มีฤดูมรสุม จึงเป็นช่วงที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้เตรียมตัวว่าทิศทางมาอย่างไรจะได้เตรียมอพยพอย่างไรจะขนข้าวของกันอย่างไร จากที่ได้ทราบข่าวสารต่างๆแล้ว และช่วงที่มีพายุหรือมรสุมเข้ามาก็จะได้มีแผนงานที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า แต่ละหน่วยจะปฏิบัติกันอย่างไร 


สิ่งสำคัญที่สุดที่จะให้นโยบายคือ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไว้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อาจมีความจำเป็นที่ทรัพย์สินเสียหายอย่างอื่นก็ไม่ต้องห่วงกังวล เพราะรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีระเบียบอยู่แล้วว่าถ้าทรัพย์สินเสียหายจะดูแลหรือเยียวยาประชาชนอย่างไร ถึงแม้จะเสียชีวิตก็จะมีระเบียบเยียวยา แต่ก็ไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น 
 

ส่วนกรณีที่ต้องอพยพประชาชนก็ต้องเรื่องของสถานที่ เพื่อให้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว สิ่งสำคัญคืออพยพแล้วต้องดูแลในเรื่องอาหารการกินของพี่น้องประชาชน ในทุกด้านรวมถึงเรื่องของสาธารณสุข และเมื่อพายุผ่านไปแล้วก็ต้องมาดูในเรื่องของการฟื้นฟู ผมเชื่อว่าแต่ละจังหวัดก็ได้เตรียมแผนเหล่านี้ไว้รองรับอยู่แล้ว ซึ่งการประชุมวันนี้ถือว่าทุกจังหวัดได้เตรียมไว้ในแผนขั้นตอนต่างๆ จึงถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้ร่วมมือกันดูแลพี่น้องประชาชน 


และดีใจที่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ดังนั้นถือว่าเราได้ปฏิบัติ ได้ถอดบทเรียนจากคราวที่แล้ว ที่เกิดพายุโพดุลเราได้เกิดการสูญเสียขณะนั้น รอบนี้จึงได้มีการแจ้งเตือนเพื่อถอดบทเรียนจากพายุรุ่นก่อนๆ ปีนี้จึงพยายามจะดูแลให้ดีที่สุด แม้ว่าความรุนแรงของพายุในสองครั้งที่ผ่านมาเราอาจจะเสียชีวิตบ้าง ครั้งละ 3 รายแต่ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ ที่พยายามแจ้งเตือนแล้วแต่พี่น้องประชาชน บางท่านคิดว่าความเคยชิน 

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำไหลหลากเปลี่ยนไป น้ำรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็ไม่อยากให้เกิดอย่างนี้ขึ้นอีก จึงขอเรียนว่าหากทางราชการแจ้งเตือนก็ขอให้ความร่วมมือกับทางราชการ เพื่อที่จะดูแลชีวิตและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย เพื่อไม่ให้สร้างความเสียใจให้กับครอบครัวในภายหลัง ซึ่งพื้นที่ทางภาคอีสานใต้เป็นภาคที่น่าเป็นห่วง ผมเองก็จะพยายามเข้าไปดู  มันจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่พายุโพดุลเข้ามา  อุบลราชธานีก็คงจะเป็นจังหวัดหลักอยู่ในขณะนี้ ขอนแก่นก็น้อยลง ปัจจุบันน่าจะอยู่ในบริเวณที่จำกัดมากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องเฝ้าติดตามอยู่ ว่า ถ้าพายุอ่อนตัวลงเราจะมีปริมาณน้ำฝนอย่างไร แต่โดยสถานการณ์ทั่วไปยังถือว่าไม่ว่าจะเป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำยังสามารถที่จะรับน้ำได้อีกเยอะ ผมมองว่าการที่มีพายุเข้ามาในรอบนี้ มีผลดีในเรื่องของการที่จะเก็บ น้ำเข้าเขื่อนได้เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดจากภัยแล้งในปีต่อไปได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-พายุโนอึล พ่นพิษ ทำ "เกาะหินแตก" พัง!

-“โนอึล” ไม่กระทบแหล่งผลิตปิโตรเลียมใน “อ่าวไทย”