หลากทัศนะ “ม็อบปลดแอก”

19 ก.ย. 2563 | 07:25 น.

19 กันยายน “ม็อบปลดแอก” เกษตรกร “ข้าว-ยาง” เสียงแตกปรากฎการณ์ใหม่รัฐบาล ด้าน “ประพัฒน์” ผวาบานปลาย เรียกร้องทุกฝ่ายมีสติ แนะ "บิ๊กตู่" ผ่าทางตันปัญหา วอนให้ทุกภาคมีส่วนร่วมแก้

วันที่ 19 กันยายน 2563 ไทยจะต้องบันทึกประวัติศาสตร์ การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาในนาม “แนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่นำโดย นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศมาเนิ่นนานแล้วว่า จะจัดชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้วยสโลแกนที่ว่าเพื่อ “ทวงอำนาจคืนราษฎร” มุมมองหลากทัศนะของเกษตรกร มองชุมชุมครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

 

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์  ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อยากให้ทุกฝ่ายมีสติ และหลีกเลี่ยงความรุนแรง ไม่อยากให้มีการปะทะกันจนทำให้เกิดบาดเจ็บล้มตาย ในฐานะผู้นำเกษตรกร อยากจะเรียกร้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจช่วยเป็นผู้นำในการพัฒนาประชาธิปไตยให้คืบหน้า เพราะเข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากจะเห็นสังคมที่มีความก้าวหน้าในทางที่ดีขึ้น การมีสิทธิ์มีเสียงต้องการการมีส่วนร่วมมากขึ้น และเปิดพื้นที่ให้มากขึ้น

 

ในส่วนของรัฐบาลหากหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีก็ขอให้ลงมาเป็นผู้นำในการผลักดัน เช่น การเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะลงมาคุยเจรจาและแก้ไขตามคำเรียกร้อง แล้วถ้าหากรับคำเรียกร้องตรงนี้ไปเชื่อทุกฝ่ายก็ยอมจบแล้วแยกย้ายในที่สุด แต่อย่าเป็นตัวต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ความขัดแย้งยิ่งมากขึ้น

 

นายประพัฒน์ กล่าวว่า อยากจะฝากถึงน้องผู้ชุมนุม ซึ่งก็เข้าใจเจตนารมณ์ของน้องอยากจะเห็นสังคมที่ดีขึ้น มีความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรเองก็โดนเอาเปรียบมาหลาย 10 ปี เช่นเดียวกันเราเองก็อยากจะเห็นเกษตรกรได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดนเอารัดเอาเปรียบน้อยลง ลดการผูกขาดจากนายทุนลง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น เรื่องการแก้ไขและปรับปรุงโครงสร้าง อาทิ  กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎกระทรวง เป็นต้น เพื่อให้โอกาสคนในชนบทได้ประกอบอาชีพได้เต็มศักยภาพ แต่หากกฎหมายไปติดขัดก็ควรจะมีการปรับปรุงใหม่ รวมถึงเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประโยชน์เอื้อต่อการฟื้นฟูของการแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างของรัฐเศรษฐกิจฐานรากของประเทศของประเทศไทยสามารถทำได้ทันทีเลย

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) กล่าวถึงการชุมนุมในครั้งนี้คาดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าคนที่สนับสนุนและช่วยเหลือรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ถอยหมดแล้ว นักการเมืองมองเหตุการณ์ออก ต้องหันกลับมายืนอยู่ตรงกลาง และอาจจะมาสนับสนุนนักศึกษาบ้าง ไม่กล้าเสี่ยง แล้วมองเห็นมวลชนขณะนี้ เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

 

สุเทพ คงมาก

 

ขณะที่นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) กล่าวว่า ผมไม่ได้ตามข่าวเลย แต่จากการประเมินแล้วว่า ไม่น่าจะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง เป็นการเรียกร้องปกติ ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องชุมนุมในครั้งนี้ จึงทำให้คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจจะเดินในระบบนี้ไปก่อน