ต่างชาติ คาด ปีหน้าเศรษฐกิจไทยฟื้น

18 ก.ย. 2563 | 10:17 น.

ที่ประชุมรมว.คลัง-ผู้ว่าการ ธนาคารกลางอาเซียน+3 เห็นพ้อง เศรษฐกิจโลก-อาเซียนฟื้นปี 64 อาเซียนโต 6.7% ขณะที่ไทยโต 4.6%

ที่ประชุมรมว.คลัง-ผู้ว่าการ ธนาคารกลางอาเซียน+3(AFMGM+3)ร่วมประชุมทางไกล เห็นตรงกันว่า โควิด-19 กระทบชีวิตความเป็นอยู่และ เศรษฐกิจ ของทุกประเทศอย่างมาก หวังปีหน้าฟื้นตัว มอง เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคมีสัญญาณฟื้นตัวในปี 2564 คาดภูมิภาคโต 6.7% และไทยจะโตที่ 4.6%

 

นาย ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ณ สศค.ได้หารือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค

 

ต่างชาติ คาด ปีหน้าเศรษฐกิจไทยฟื้น

 

ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นพ้องว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของทุกประเทศอย่างมาก โดยแต่ละประเทศได้ใช้นโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเพิ่มสภาพคล่องแก่ประชาชนและเอกชน โดยเฉพาะ SMEs รวมถึงการปรับตัวเพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่กระทบห่วงโซ่อุปทานของโลก 

 

โดยที่ประชุมหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นในปีหน้าได้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจจากผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เห็นตรงว่า เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคมีสัญญาณฟื้นตัวในปี 2564 โดย สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคฯ คาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคอยู่ที่ 6.7% และคาดว่าไทยจะโตที่ 4.6%

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 องค์กรมีข้อเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายหลังจากโควิด-19 และดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดย IMF เห็นว่า ควรให้ความสำคัญเรื่องการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 การดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการลดความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

โดยในระยะกลางและระยะยาวควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดสรรทรัพยากร และพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการหนี้ของภาครัฐและเอกชนที่เหมาะสม ขณะที่ ADB เห็นว่าควรใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกระจายรายได้ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเทคโนโลยีทางดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือปรับปรุงระบบสาธารณสุข

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

EIC ปรับประมาณการจีดีพีปี 63 หดตัว 7.8%

กกร.เล็งทบทวนคาดการณ์จีดีพีหลังไตรมาส3

ธปท.เผยเศรษฐกิจก.ค.ปรับตัวดีขึ้นตามการใช้จ่ายภาครัฐ