รับมือพายุ “โนอึล”

18 ก.ย. 2563 | 09:25 น.

กอนช. - ติดตามสถานการณ์พายุ “โนอึล” หลังลดระดับเป็นดีเปรสชัน ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ด้าน  “เฉลิมชัย” ห่วงใยเกษตรกร สั่งทุกหน่วยงานเดินหน้า 4 แผน 5 มาตรการ รับมือเต็มกำลัง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

วันที่ 18 กันยายน 2563 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งได้มีการติดตามและประเมินสภาพอากาศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงาน โดยพบว่า ขณะนี้พายุโซนร้อน “โนอึล” ปัจจุบันได้เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่จังหวัดมุกดาหารแล้ว ซึ่งได้ลดระดับลงจาก “พายุโซนร้อน” เป็น “พายุดีเปรสชัน” ก่อนจะกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในโซนภาคกลางของประเทศ

 

จากนั้นจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือเข้าสู่ประเทศเมียนมาในระยะต่อไปตามลำดับ ประกอบกับปัจจัยจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะทวีกำลังแรงขึ้น จึงส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงในเกือบทุกภาคของประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. 63 ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นภาคแรกที่ได้รับผลกระทบ

รับมือพายุ “โนอึล”

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติคาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก รวม 33 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด ภาคใต้ 5 จังหวัด และจังหวัดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งในลำน้ำหลายหลักใน 24 จังหวัด 94 อำเภอ 194 ตำบล

 

แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด และภาคเหนือ 9 จังหวัด ซึ่งในช่วงวันนี้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในแม่น้ำสาขา ก่อนที่ลำน้ำสายหลักจะเพิ่มระดับสูงขึ้นในวันถัดไป ประกอบด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำสงคราม แม่น้ำมูล แม่น้ำห้วยหลวง แม่น้ำชี แม่น้ำห้วยโมง ลำน้ำพุง ลำน้ำเซบาย ลำน้ำเซบก ลำน้ำยัง และ ในภาคเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก และสำหรับสถานการณ์ในแม่น้ำโขงนั้น ยืนยันว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากพายุ โดยระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 50 ซม.

 

รับมือพายุ “โนอึล”

 

ดร.สมเกียรติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากในแง่ของผลกระทบแล้ว กอนช.ยังประเมินถึงผลดีจากอิทธิพลของพายุโนอึลที่จะช่วยให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากขึ้น โดยคาดการณ์น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั่วประเทศจากพายุโนอึล ในช่วงวันที่ 18-21 ก.ย. 63 รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,140 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น

ภาคเหนือ 273 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 35 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 378 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 98 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 185 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 171 ล้าน ลบ.ม. โดยมีอ่างเก็บน้ำจำนวนหลายแห่งที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเป็นจำนวนมาก อาทิ เขื่อนสิรินธร คาดน้ำไหลเข้า 171 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนรัชชประภา 136 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 123 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ 91 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล 73 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนศรีนครินทร์ 71 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 58 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น

ในขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย คาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 29 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกัน กอนช.ยังเน้นย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำขนาดกลางติดตามประเมินปริมาณฝนตกที่อาจจะเสี่ยงน้ำล้นเพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้เหมาะสมไม่กระทบกับพื้นที่ท้ายอ่างฯ ซึ่งพบว่ามีทั้งสิ้น 50 แห่ง ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25 แห่ง ภาคเหนือ 13 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันตก 1 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง

 

“ในช่วง 2-3 วันนี้ที่คาดว่าหลายพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลจากพายุโนอึล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจะมีการติดตามประเมินสภาพอากาศและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางมาตรการเชิงป้องกัน โดยประเมินปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนต่าง ๆ และเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ และบุคลากร ล่วงหน้าอย่างเต็มกำลังในการเฝ้าระวัง ป้องกันผลกระทบ และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่

ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจเสี่ยงได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ รวมถึงได้มอบหมายให้มีการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแหล่งน้ำที่คาดว่าพายุจะเคลื่อนผ่าน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

รับมือพายุ “โนอึล”

ด้าน ​นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แสดงความห่วงใยไปถึงพี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะในบริเวณภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุโดยตรงดังกล่าว รวมทั้งได้สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร ภายใต้ 4 แผน 5 มาตรการ

 

อลงกรณ์ พลบุตร

 

ประกอบด้วย ได้แก่ 1.แผนการป้องกันและเตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบ 2) แผนการเผชิญเหตุ  3) แผนการหยุดยั้งความเสียหาย 4) แผนการฟื้นฟูและ 5มาตรการคือ ​ 1) มาตรการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรให้ทราบสถานการณ์ 2) มาตรการระดมคน เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ ทุกหน่วยงาน 3) มาตรการป้องกันพื้นที่เสี่ยงทางการเกษตร 4) มาตรการเตรียมพร้อมแผนอพยพในพื้นที่เสี่ยงภัย  5) มาตรการเตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาหลังภัยพิบัติ

 

รับมือพายุ “โนอึล”

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ขอให้พี่น้องเกษตรกรติดตามประกาศเตือนภัย และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นไว้อย่างพร้อมเพรียงแล้ว ตลอดจนเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดเวลาจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“โนอึล” ลดระดับเป็น พายุ "ดีเปรสชัน" (มีคลิป)

พิษ “โนอึล“ ถล่ม อุบลฯ อ่วม