อิมแพค โซล่าร์ จับมือ อิตัลไทยวิศวกรรม ทุ่ม 24 ล้าน ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่จอดรถให้จุฬาฯ

17 ก.ย. 2563 | 09:32 น.

อิมแพค โซล่าร์ จับมือ อิตัลไทยวิศวกรรม ทุ่มงบ 24 ล้านบาท ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) บนหลังคาที่จอดรถบริเวณตลาดสามย่าน หนุนแนวคิด ‘เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ’ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการ อิมแพค โซล่าร์ กรุ๊ป ผู้นำการพัฒนาบริการระบบพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาแบบครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับลานจอดรถ หรือ PMCU Solar Carpark เป็นการปรับปรุงสภาพพื้นที่ลานจอดรถด้วยหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ Private PPA ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ภายในองค์กร ลดต้นทุนค่าใช้ไฟฟ้า และช่วยสนับสนุนสู่การสร้างสังคมแบบสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ ลดการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ

 

ทั้งนี้ อิมแพค โซล่าร์ กรุ๊ป เป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบด้านการลงทุนติดตั้ง และพัฒนาระบบแผงโซลาร์ เพื่อการผลิตไฟฟ้าบนโครงหลังคาลานจอดรถให้กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด นำร่องการติดตั้งบริเวณลานจอดรถ ด้านหน้าโครงการ Block 28 ตลาดสามย่าน ด้วยงบลงทุนประมาณ 24 ล้านบาท พร้อมทั้งยังดูแลการบำรุงรักษาหลังการติดตั้งไปตลอดอายุสัญญาอย่างครบวงจรอด้วยทีมงานมืออาชีพ

 

สำหรับอิมแพค โซล่าร์ กรุ๊ปถือเป็น ผู้พัฒนาบริการระบบพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาแบบครบวงจร ในรูปแบบ Private PPA รายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยพัฒนาโครงการให้กับลูกค้าชั้นนำมากมาย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มสหพัฒน์ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี กลุ่มไทยยูเนี่ยน กลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ อีกมาก

อิมแพค โซล่าร์ จับมือ อิตัลไทยวิศวกรรม ทุ่ม 24 ล้าน ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่จอดรถให้จุฬาฯ

นายธงชัย วิจารณ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจโครงข่ายไฟฟ้า บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาในการดำเนินการของอิตัลไทยวิศวกรรม ผู้นำตลาดการให้บริการด้านวิศวกรรมและก่อสร้างแบบครบวงจร มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการงานก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง การร่วมมือกับบริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด พัฒนาและติดตั้ง “ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับลานจอดรถ” (Solar Carpark) ให้กับ“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” บริเวณลานจอดรถด้านหน้าโครงการ Block 28 ตลาดสามย่าน

 

บริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ และดำเนินการด้านวิศวกรรม ติดตั้ง และก่อสร้าง รวมพื้นที่หลังคาประมาณ 4,000 ตารางเมตร มีกำลังติดตั้งขนาด 770 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1.1 ล้านหน่วยต่อปี หรือเทียบเท่ากับค่าไฟฟ้า 4.4 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการแล้ว ในชื่อโครงการ “PMCU Solar Carpark” ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“บริษัทฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา และก่อสร้างโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด ส่งเสริมการยกระดับสังคมสู่ Smart Energy การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

อิมแพค โซล่าร์ จับมือ อิตัลไทยวิศวกรรม ทุ่ม 24 ล้าน ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่จอดรถให้จุฬาฯ

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน และนวัตกรรม กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด “Chula Smart City” มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วย 4 แนวคิดหลัก หรือ “SMART 4” ประกอบด้วย “SMART MOBILITY, SMART ENERGY, SMART LIVING และ SMART ENVIRONMENT

 

การพัฒนาและติดตั้งโครงการ "PMCU Solar Carpark" บริเวณลานจอดรถตลาดสามย่าน อยู่ภายใต้แนวคิด SMART ENERGY ที่ส่งเสริมการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะเน้นไปที่การผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาและติดตั้งโครงการ "PMCU Solar Carpark" ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการแสดงศักยภาพในการพัฒนาองค์กรแบบมืออาชีพในการบริหารจัดการพื้นที่พาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบให้ร่วมศึกษาการติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) และระบบกักเก็บพลังงาน

 

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้โครงการ "PMCU Solar Carpark" จะเป็นโครงการต้นแบบให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการนำโมเดล และเทคโนโลยีดังกล่าวไปขยายผล สู่การใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในวงกว้าง อันเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบใช้แล้วหมดไปอย่างยั่งยืน

อิมแพค โซล่าร์ จับมือ อิตัลไทยวิศวกรรม ทุ่ม 24 ล้าน ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่จอดรถให้จุฬาฯ