ใช้ AI จับป้ายทะเบียนรถ หนีด่าน “ทางด่วน-มอเตอร์เวย์” โทษหนัก

16 ก.ย. 2563 | 10:46 น.

    “คมนาคม” เตรียมยกเลิกระบบไม้กั้นทางด่วน ใช้ระบบเอ็ม โฟล์ว ตรวจจับป้ายทะเบียนรถนำร่องด่านทับช้าง-ทางด่วนฉลองรัช คาดเริ่มใช้ทุกเส้นทางภายในปี 2564 ลุยเพิ่มบทโทษ หนีด่านทางด่วน

ปริมาณจราจรสะสมค่อนข้างมาก บริเวณหน้าด่านเก็บเงิน ทั้งทาง พิเศษ (ทางด่วน) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ ทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรมทางหลวง  จากไม้กั้น  ส่งผลให้ผู้ใช้ทางเสียจังหวะในการเคลื่อนตัว

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการศึกษาและพัฒนาระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น Multi-Lane Free Flow หรือ M-Flow ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) ว่า สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นนั้น ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาและพัฒนาระบบ M-Flow ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยี Video Tolling แบบ AI ที่สามารถตรวจจับป้ายทะเบียนรถโดยอัตโนมัติ

 

โดยจะทำหน้าที่บันทึกทะเบียนรถเพื่อเรียกเก็บค่าผ่านทางเป็นรายเดือน เช่นเดียวกันค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้างดำเนินการระยะที่ 1 นำร่องบริเวณมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี) จำนวน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2 ซึ่งจะเป็นระบบ M-Flow ทุกช่องเก็บเงินไม่มีช่อง M-Pass หรือช่องเงินสดแล้ว คาดว่าจะทดสอบระบบได้ภายในเดือนธ.ค.นี้ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้งานอย่างเต็มรูปแบบหลังปีใหม่ในต้นเดือนม.ค. 2564 ส่วนกทพ.จะเริ่มนำร่องที่ทางด่วนฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) ในเดือนก.พ. 2564 จากนั้นให้ทั้ง 2 หน่วยงาน รวมถึงเอกชนที่ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการทางด่วน มอเตอร์เวย์ รวมถึงโทลเวย์เร่งขยายผลให้ครบทุกด่านภายในสิ้นปี 2564 ต่อไป
ใช้ AI จับป้ายทะเบียนรถ หนีด่าน “ทางด่วน-มอเตอร์เวย์” โทษหนัก

 

เมื่อใช้ระบบ M-Flow แล้วด่านเก็บค่าผ่านทางที่มีอยู่คงไม่ได้ใช้แล้ว ดังนั้นระยะต่อไปขอให้ทั้ง 2 หน่วย งานตรวจสอบในสัญญาว่าสามารถรื้อถอนออกได้หรือไม่อย่างไร เพราะถ้าใช้ระบบ M-Flow เต็มรูปแบบแล้วก็อยากให้รื้อถอนตู้ค่าค่าผ่านทางออกทั้งหมด เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรแล้ว ทั้งนี้ระบบดังกล่าวนอกจากอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องยุ่งยากในการใช้บริการแล้ว ยังช่วยเรื่องความมั่นคงในการตรวจสอบยานพาหนะที่ผ่านมาเข้ามาในระบบได้อย่างแม่นยำ โดยบูรณาการข้อมูลกับกรมการชนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อจะได้รู้ว่ามีรถอะไร และมีประวัติอย่างไรถูกต้องหรือผิดกฎหมาย เช่น ปลอมทะเบียน เปลี่ยนสี ถูกขโมย หรือใช้ประกอบอาชญากรรมผ่านเข้ามาในระบบหรือไม่ ก่อนส่งต่อให้ขบ. ตรวจสอบและส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
  

 

 “การเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลกระทบอาจเกิดขึ้นจึงย้ำว่าในส่วนของพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ตามด่านเก็บเงินนั้นให้ ทล. กทพ. บีอีเอ็ม และโทลล์เวย์ ไปพิจารณาหาทางเยียวยา โดยไม่ต้องการให้รีไทร์ แต่เปลี่ยนแปลงตำแหน่งให้ไปปฏิบัติงานอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น จึงขอให้มั่นใจว่าไม่เกิดผลกระทบต่อพนักงานแต่ในอนาคตคงไม่มีการรับพนักงานใหม่แล้ว”

 

สำหรับการดำเนินการระบบ M-Flow จะมีการเปิดประมูลว่าจ้างเอกชนเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการในการตรวจรถ เรียกเก็บเงิน และติดตามหนี้กรณีไม่จ่ายค่าผ่านทาง ซึ่งปัจจุบัน กทพ.และทล.มีปัญหาเรื่องการเก็บค่าผ่านทางที่ได้ไม่เต็ม 100% เพราะมีผู้หนีด่านเฉลี่ยวันละประมาณ 2% เมื่อว่าจ้างเอกชนบริหารจัดการแล้วเอกชนจะเป็นผู้การันตีการรายได้จากการเก็บค่าผ่านทาง และประกับความเสี่ยงว่าทั้ง 2 หน่วยงานจะได้รายได้ครบ 100% ทั้ง 2 หน่วยงานไม่ต้องไปติดตามหนี้เองแล้ว

 

รวมถึงส่งข้อมูลให้กับขบ.กรณีที่ชำระค่าใช้บริการไม่ครบด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การไม่ต่อทะเบียน รถให้นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เพิ่มข้อหาการไม่ชำระค่าผ่านทางเป็นความผิดตามพ.ร.บ.จราจรด้วย ซึ่งขณะนี้ทล.ได้เตรียมส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) เพื่อพิจารณาแล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าระบบดังกล่าวมีการใช้ในหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา เยอรมันนี สเปน เป็นต้น  

ข่าวหน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3610