SMEs อ่วม ช็อปออนไลน์จีนทะลัก จี้รัฐตั้งหน่วยงานสกัด-คุมเข้มเก็บภาษี  

16 ก.ย. 2563 | 07:57 น.

ชงภาครัฐ-เอกชน เร่งสกัดสินค้าจีน-ผู้ประกอบการจีนด่วน หลังทะลักยึดตลาดออนไลน์ ไล่บี้สินค้าเอสเอ็มอีไทยอ่วม

จากข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Thai e-Commerce Association) ระบุว่า ในปี  2561 มาร์เก็ตเพลส 3 ยักษ์ใหญ่ของไทย ได้แก่  Lazada , Shopee และ JD มีปริมาณสินค้าที่จำหน่ายรวม 75 ล้านชิ้น  แบ่งเป็นสินค้าจากประเทศจีน 60 ล้านชิ้น และสินค้าในประเทศ 15 ล้านชิ้น ขณะที่ในปี 2562 มีปริมาณสินค้าที่จำหน่ายรวม 175 ล้านชิ้น แบ่งเป็นสินค้าจากประเทศจีน 135 ล้านชิ้นคิดเป็น 77% จากผู้ขาย 8.1 หมื่นราย และสินค้าในประเทศ 40 ล้านชิ้นคิดเป็น 23% จากผู้ขาย 1 ล้านราย แสดงให้เห็นว่าปริมาณการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 เท่าตัว     

 

ขณะที่กระแสนิยม “ช็อปปิ้งออนไลน์” เริ่มแพร่วงกว้างไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่อีกต่อไป  แต่ในจังหวัดต่างๆก็ได้รับความนิยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายในมาร์เก็ตเพลสต่างๆซึ่งมีอยู่กว่า 4 ล้านรายกลับไม่ได้รับผลประโยชน์ เมื่อผู้ผลิตจีน นำทัพสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาชิงส่วนแบ่งตลาด และยังจัดโปรโมชั่นลดราคาให้ต่ำกว่าทุนล่อใจให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าในมาร์เก็ตเพลสนั้นๆมากขึ้น

 

สกัดสินค้าจีนด่วน

นายฉัตรชัย  ตวงรัตนพันธ์  ที่ปรึกษา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลายคนที่บอกว่า เอสเอ็มอีจะตายเพราะมีห้างใหญ่ แต่แท้จริงแล้วจะเห็นว่า ห้างไม่ได้สร้างปัญหาหรือทำให้เอสเอ็มอีเกิดปัญหาแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามห้างเป็นตัวกลางในการนำสินค้าเอสเอ็มอีมาวางจำหน่าย และช่วยสร้างธุรกิจให้เติบโต แต่วันนี้จะเห็นว่า อี-คอมเมิร์ซหรือช่องทางการขายผ่านออนไลน์ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าจีน ผู้ประกอบการจีนที่นอกจากจะมีต้นทุนต่ำทำให้ขายสินค้าราคาถูกแล้ว ยังลดราคาให้ต่ำกว่าทุนโดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของมาร์เก็ตเพลสอีกด้วย

 

“สิ่งที่ต้องเร่งแก้คือ สกัดไม่ให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ  เอกชน สมาคมอี-คอมเมิร์ซ ต้องมีการกำหนดแผนหรือมาตรการต่างๆ ขณะเดียวกันมาตรการควบคุมอี-คอมเมิร์ซ ในด้านราคาและการเสียภาษี จะทำให้เอสเอ็มอีไทยมีโอกาสและแข่งขันในธุรกิจได้”

 

ปลดล็อกเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรก

ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในการควบคุมอี-คอมเมิร์ซ ในด้านราคาและการเสียภาษี  ใน 3 ประเด็นได้แก่ 1. เสนอให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก 2. ห้ามอี-คอมเมิร์ซ ขายราคาต่ำกว่าทุน  เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีและค้าปลีกไทย  และ 3. การปราบปรามสินค้าหนีภาษีที่เติบโตจากอี-คอมเมิร์ซ

SMEs อ่วม ช็อปออนไลน์จีนทะลัก  จี้รัฐตั้งหน่วยงานสกัด-คุมเข้มเก็บภาษี  

 

“แม้จะมีข้อตกลงยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทร่วมกันในระดับสากล แต่เป็นเพียงไกด์ไลน์ให้ยึดปฏิบัติ ไม่ได้เป็นข้อบังคับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าขายผ่านออนไลน์  และวันนี้ในหลายประเทศยกเลิกข้อตกลงนั้น และเริ่มจัดเก็บภาษีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย  , อินโดนีเซีย เป็นต้น ดังนั้นประเทศไทยก็สามารถปฏิบัติได้และถือเป็นหนึ่งในแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยด้วย”

 

เว้นอากรเป็นหลักปฎิบัติทั่วโลก

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรกล่าวว่า การยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เป็นหลักปฏิบัติเดียวกับศุลกากรทั่วโลกที่จะมีการยกเว้น สำหรับสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก ดังนั้นจึงไม่สามารถยกเลิกได้ แต่ที่มีการหารือกันคือ จะให้มีการจัดเก็บภาษีแวตสำหรับสินค้าที่ส่งเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่บาทแรก ซึ่งคาดว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องน่าจะอยู่ระหว่างดำเนินการ

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แต่ละประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาการอาศัยช่องทางการการยกเว้นภาษีดังกล่าวสำหรับการค้าขายสินค้าออนไลน์(อี-คอมเมิร์ซ) ดังนั้นศุลกากรแต่ละประเทศจึงได้ประสานความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ขณะที่กรมศุลกากรเองยังมีมาตรการดูแลหลายมาตรการเช่น กรณีการส่งพัสดุเร่งด่วน มีข้อปฏิบัติให้บริษัทผู้ขนส่งส่งข้อมูลล่วงหน้ามายังกรมศุลกากร เพื่อการตรวจสอบ การเอ็กเรย์สินค้าในกล่อง รวมถึงประสานความร่วมมือกับไปรษณีย์ระหว่างประเทศ และการบริหารความเสี่ยงในการตรวจสอบสินค้า

 

“สำหรับสินค้าจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดในไทยนั้น ไม่ได้เกิดจากการสำแดงราคาต่ำเกินจริง แต่เพราะสินค้าจีนราคาต่ำอยู่แล้ว จากการผลิตเพื่อส่งขายทั่วโลก  ทำให้ราคาต่อหน่วยต่ำ”นายชัยยุทธกล่าว 


SMEs อ่วม ช็อปออนไลน์จีนทะลัก  จี้รัฐตั้งหน่วยงานสกัด-คุมเข้มเก็บภาษี  

เพิ่มมาตรการคัดกรอง

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาดดอตคอม กรุ๊ป จำกัด ในฐานะหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประสานงานกิจการภาครัฐ  สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai E-Commerce Association)  กล่าวว่า ทางออกสำหรับการแก้ปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักเข้ามาในไทยนั้น ภาครัฐควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลด้านอี-คอมเมิร์ซโดยเฉพาะ  เนื่องจากทุกวันนี้มีหลายหน่วยงานดูแล ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน    พร้อมทั้งดึงเอกชนหรือ ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม  

 

นอกจากนี้ต้องเข้าไปตรวจสอบมาร์เก็ตเพลสว่ามีรายการสินค้าจีนรายใดผิดกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นภาครัฐดำเนินการแล้ว   คือ มีการคัดกรองสินค้าโดยใช้มาตรฐานและคุณภาพ เข้ามาตรวจสอบสินค้าจีน   ทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และอาหารและยา (อย.)   ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการภาษีมาสกัดกั้น   หรือ สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย   นอกจากนี้ภาครัฐต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้นำสินค้าออกไปจำหน่ายในต่างประเทศมากขึ้น

SMEs อ่วม ช็อปออนไลน์จีนทะลัก  จี้รัฐตั้งหน่วยงานสกัด-คุมเข้มเก็บภาษี  

อุปกรณ์เสริมมือถือฮิตสุด

สำหรับสินค้าจีนที่มียอดขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือ 3.3 ล้านชิ้น, เครื่องใช้ไฟฟ้า 3.02 ล้านชิ้น ,เสื้อผ้า รองเท้าผู้หญิง 1.79 ล้านชิ้น, เกมและของเล่น 1.68 ล้านชิ้น และเสื้อผ้า รองเท้า ผู้ชาย 1.59 ล้านชิ้น ขณะที่สินค้าที่ได้รับความนิยมน้อย ได้แก่ สินค้าหมวดสุขภาพและความงาม และสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

 

ขณะที่ หมวดสินค้าที่มีปริมาณการขายสูงกว่าสินค้าในประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ เกมและของเล่น 1.68 ล้านชิ้น, เสื้อผ้า รองเท้าผู้ชาย 1.59 ล้านชิ้น, กีฬา และกิจกรรมกลางแจ้ง 1.5 ล้านชิ้น, เครื่องเสียง 1.2 ล้านชิ้น และเครื่องประดับผู้หญิง 9.51 แสนชิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมใช้เงินกู้ 6 หมื่นล้านบาท ให้บสย.ช่วยเอสเอ็มอี

"สสว.” คาด "GDP SME" ทั้งปีหดตัว 9.5%