‘อนันตพร’ 8 เดือนแก้เผือกร้อน สัมปทานปิโตรเลียม/โรงไฟฟ้าถ่านหิน

21 เม.ย. 2559 | 08:00 น.
การเข้ามารับหน้าที่บริหารจัดการพลังงานในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายใต้การบริหารของพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถือว่าเป็นการรับเผือกร้อนต่อจากดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ว่าได้ โดยเฉพาะการต่อต้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 รวมถึงการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ที่ยังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้

ถึงวันนี้การบริหารงานของพล.อ.อนันตพร ผ่านไปแล้วกว่า 8 เดือน"ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์พิเศษ ถึงการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน ที่วางไว้ 9 ข้อ ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างไร

  เร่งเปิดสัมปทานฯ เม.ย.คืบ

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อย่างการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่สะดุดมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 หลังจากที่มีกลุ่มคัดค้านไม่เห็นด้วยว่า ที่ผ่านมาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนไปแล้ว นับว่าได้ข้อยุติไปกว่า 80% ขณะที่การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ก็มีขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าสิ้นเดือนเมษายนนี้ น่าจะมีข้อสรุป จากนั้นจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. อีกครั้ง คาดว่าในส่วนนี้จะใช้ระยะเวลาพิจารณา 2-3 เดือน จากนั้นน่าจะเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 ได้ หลังจากล่าช้ามา 1 ปี

 บริหารสัมปทานหมดอายุปี

ส่วนการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ 2 แหล่ง ในปี 2565-2566 ได้แก่ แปลงสำรวจหมายเลข B10, B11, B12 และ B13 (สัมปทานหมายเลข 1/2515/5 และ 2/2515/6) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและใกล้เคียง ดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ปัจจุบันมีอัตราการผลิต 1.24 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแปลงสำรวจหมายเลข B15, B16 และ B17 (สัมปทานหมายเลข 3/2515/7 และ 5/2515/9) ของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ดำเนินการโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีอัตราการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณกลางปีนี้ เพราะตามหลักการแล้วจะต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการรายเก่าทราบล่วงหน้าก่อนที่สัญญาจะหมด 5 ปี ว่าจะได้รับการต่อสัญญาหรือเปลี่ยนการบริหารจัดการไปในรูปแบบอื่นๆ และจะต้องรอให้การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม แล้วเสร็จภายในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งยังพอมีเวลา เพราะภาคเอกชนได้ยืนยันว่าสามารถรอความชัดเจนได้ถึงต้นปี 2560

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการนั้น ได้แบ่งเป็น 3 ทางเลือก 1.ให้สิทธิผู้รับสัมปทานรายเก่า ซึ่งทางเลือกนี้จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายก่อน และผู้รับสัมปทานรายเก่าจะต้องมีข้อเสนอที่สร้างผลประโยชน์สำหรับประเทศชาติเพิ่มขึ้นอีก 2.การเปิดประมูลแข่งขัน และ3.รัฐบาลทำเอง ใช้ระบบจ้างผลิต ซึ่งทางเลือกนี้ ยังมีความกังวลว่ารัฐจะมีเงินลงทุนหรือไม่ ประกอบกับขาดแรงจูงใจ เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับเป็นเงินเดือน หากผลิตได้มากก็ยังรับเงินเดือนในอัตราเดิม ไม่เหมือนเอกชนที่มีโบนัสเพิ่มขึ้นหากผลิตได้ในปริมาณมาก

"กระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะจะทำอย่างไร ระหว่างต้นปี2560 กับปี 2566 ทำอย่างไรให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิต ให้มีก๊าซอยู่เช่นเดิม โดยจะเป็นรายเก่าหรือไม่นั้น บอกไม่ได้ หากมีผู้ยื่นประมูลโดยเฉพาะคนที่มีเงินลงทุน หากเป็นรายเก่าต้องมีผลตอบแทนประเทศชาติที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ที่ผ่านมาภาคประชาชนอยากให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต และจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยในส่วนของการเพิ่มระบบนั้น เรายินดี แต่บริษัทน้ำมันแห่งชาติควรรอบคอบ คงต้องขอศึกษาก่อน และต้องตั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาศึกษาความเหมาะสมต่อไป การศึกษาใช้เวลา 1 ปี เวลานี้น้ำมันขาลงไม่ต้องรีบมาก"

 โรงไฟฟ้าถ่านหินจำเป็น

นอกจากนี้ ที่ยังเป็นปัญหาอีกคือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และที่เทพา อีก 2 พันเมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะตัดสินใจในเดือนสิงหาคมว่า จะเดินหน้าหรือยุติโครงการ ซึ่งหากเห็นชอบทุกฝ่ายก็เดินหน้าทันที แต่หากไม่เห็นชอบก็ชะลอออกไปไม่มีปัญหาอะไร

แต่ปัญหาที่ตามมาจะเป็นเรื่องของความมั่นคงไฟฟ้าของภาคใต้ ที่อาจจะมีความเสี่ยง เพราะไฟฟ้าภาคใต้จะไม่เพียงพอในอนาคตอันใกล้ ซึ่งปัจจุบันการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะขณะนี้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศไทยยังต่ำเพียง 18% เท่านั้น เทียบกับประเทศในอาเซียน ซึ่งในอีก 20 ปีข้างหน้าสัดส่วนการใช้ถ่านหินของอาเซียนจะขึ้นไปอยู่ที่ 50% เทียบกับแผนพีดีพี 2015 ของไทยเพิ่มขึ้นเพียง 22% ในปี 2579 ปัจจุบันสัดส่วนการใช้ถ่านหินในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 38% และญี่ปุ่นอยู่ที่ 24%

ส่วนกรณีที่เอกชนต้องการทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างบริษัท บีแอลซีพี ที่มีพื้นที่พร้อม พบว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีพื้นที่ในจ.ระยอง แต่อย่าลืมว่าพื้นที่ระยองมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอแล้ว ดังนั้นจึงต้องการก่อสร้างในพื้นที่ที่ขาดแคลนไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้มากกว่า เพราะหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยอง จะต้องเสียเงินลงทุนสายส่งไปยังภาคใต้อีก นอกจากนี้ อยากถามว่าหากไม่สามารถตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ได้ สามารถเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นก๊าซได้หรือไม่ ประชาชนจะยอมรับหรือไม่ เพราะต้องมีท่าเรือ และเรือขนส่งก๊าซเช่นกัน

 ปรับโครงสร้างราคาคืบมาก

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่าอีกว่า สำหรับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในภาพรวมนั้น นับว่าประสบความสำเร็จเกือบ 100% แล้ว เพราะได้ยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงานไปเกือบหมดแล้ว โดยการประกาศราคาลอยตัวไม่ว่าจะเป็นแอลพีจีและเอ็นจีวี รวมทั้งลดการนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนราคาพลังงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ล่าสุดก็ได้ประกาศลอยตัวราคาเอ็นจีวีแบบมีเงื่อนไขแล้ว เพราะยังให้ ปตท.ดูแลราคาขายปลีกไม่เกิน 13.50 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งทาง ปตท.ได้ปรับลดราคาขายปลีกเอ็นจีวีเดือนเมษายน 2559 จำนวน 11 สตางค์ต่อกิโลกรัม อยู่ที่ 13.36 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากต้นทุนก๊าซลดลง

อย่างไรก็ตาม การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีความจำเป็นอยู่ แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้ใช้อุดหนุนราคาพลังงานมากนัก แต่ต้องมีไว้ เพราะหากในอนาคตราคาพลังงานผันผวน จะได้มีไว้รักษาเสถียรภาพด้านราคา เช่นเดียวกับกองทุนแอลพีจี โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีฐานะสุทธิอยู่ที่ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของบัญชีก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 7.2 พันล้านบาท และในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท

 เดินหน้าพลังงานทดแทนเพิ่ม

สำหรับการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนนั้น ได้เร่งรัดการออกกติกาเพื่อให้การรับซื้อพลังงานทดแทนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าราคาน้ำมันในปี 2559 จะไม่สูงเหมือนกับปี 2547 ที่กว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลก็ตาม แต่ประเทศไทยต้องการลดการพึ่งพานำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ล่าสุดทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) อยู่ระกว่างทดลองน้ำมันไบโอดีเซลบี20 ในกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ แต่ปัญหาคือน้ำมันบี100 แพงกว่าน้ำมัน แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยังมีความกังวลการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) ที่ต่อไปจะกลายเป็นปัญหาในการกำจัดซากแผงเซลล์ที่หมดอายุ ซึ่งต่อไปคงต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 จับมือเพื่อนบ้านพัฒนาพลังงาน

สำหรับการขยายความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาแหล่งพลังงาน ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้นำประเทศในเอเชียและอาเซียนพบว่า ทุกประเทศยังมองไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ทั้งด้านภูมิประเทศ พื้นฐานพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องสายส่ง(อาเซียนกริด) ที่จะมีความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์ ที่จะหารือเพื่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

ขณะเดียวกันการที่เอกชนไทยต้องการขยายลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ปตท.ลงทุนคลังแอลเอ็นจีรูปแบบ FSRU ในเมียนมา ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้หารือกับทางกระทรวงไฟฟ้าของเมียนมาแล้ว แต่คงต้องรอให้การจัดตั้งรัฐบาลเมียนมาชุดใหม่แล้วเสร็จก่อน โดยจะมีการหารือร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตามในระยะอันใกล้นี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนโครงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหลายโครงการ อาทิ โครงการโรงฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว เมียนมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559