เปิดรายชื่อ 26 จังหวัดโดนพายุซัด เสี่ยงน้ำท่วม - 11 จังหวัดดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก

15 ก.ย. 2563 | 15:01 น.

อิทธิพลจากพายุดีเปรสชัน ส่งผลกระทบไทยระหว่างวันที่ 18 -21 ก.ย. กองอำนวยการน้ำเตือน 26 จังหวัดต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง และ 11 จังหวัดเสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือ

นายสำเริง แสงภู่วงค์  รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมขัง ฉบับที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 เวลา 18.00 น.


ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือน เรื่อง พายุระดับ 2  (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 15 กันยายน 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง พายุระดับ 2  (ดีเปรสชัน)บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงวันที่ 18 -20 กันยายน 2563 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบางแห่ง โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคเหนือ และภาคอื่น ๆ ตามลำดับนั้น


กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุที่พาดผ่านประเทศไทย บริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ โดยพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังฝนตกหนักมากกว่า 90 มิลลิเมตร รวมทั้งวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์น้ำในลำน้ำที่เสี่ยงเกิดน้ำหลาก น้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ ในช่วงวันที่ 18 - 21 กันยายน 2563 ดังนี้


 

1.เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม บริเวณที่ลาดชันเชิงเขา ใน 11 จังหวัด  ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครนายก ชัยภูมิ จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา


2. เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำสงคราม แม่น้ำมูล และลำน้ำยัง


3. เฝ้าระวังน้ำท่วมขัง จำนวน 26 จังหวัด บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด
ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และนครราชสีมา
) ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์) ภาคตะวันตก (ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี) ภาคตะวันออก (สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด) ภาคใต้ (กระบี่ และชุมพร)


เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้


1. ติดตาม เฝ้าระวัง สภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง รมถึงในพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำชาก มีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ หรือแนวคันป้องกันน้ำท่วม ชำรุดเสื่อมสภาพ


2. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงที่หากเกิดสถานการณ์
 

3. ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ โดยเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด และลดการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกและความต้องการการใช้น้ำ ส่วนเขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำให้พิจารณาพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำหลาก รวมทั้งเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก


4.เตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุรับมืออุทกภัย บุคลากร รวมถึงครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน


 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง