ชำแหละงบ 7.44 พันล้านแก้ไขน้ำท่วม - ภัยแล้งบึงหนองหาร

16 ก.ย. 2563 | 00:00 น.

ผ่างบ 7.44 พันล้านบาทแผนพัฒนาบึงหนองหาร ไปดูแผนไหนใช้งบมากสุด หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จจะได้ประโยชน์อะไรจากแผนนี้กันบ้าง

บึงหนองหารและบริเวณโดยรอบ จังหวัดสกลนคร ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความจุ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันบึงหนองหารกำลังประสบปัญหา เช่น ปัญหาน้ำทิ้งจากชุมชม น้ำท่วม การขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริการโภคและใช้ทางการเกษตร ตลอดจนการบุกรุกเข้าถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย 


ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน รวม 62 โครงการ และล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนหลักการพัฒนาหนองหาร  โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ.2563 – 2572) วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 7,445.22 ล้านบาท 
 

ภายใต้วงเงินงบประมาณที่ได้จัดสรรขึ้นมานั้น จะประกอบไปด้วยแผน 5 ด้านได้แก่ 


1.แผนด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค งบประมาณรวม 293.32 ล้านบาท มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ การประปาส่วนภูมิภาค โดยจะจัดหาแหล่งน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนครบทุกหมู่บ้าน และการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เศรษฐกิจ

 
2.แผนด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต งบประมาณรวม 1,064.62 ล้านบาท มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมชลประทาน โดยจะเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของปริมาณน้ำที่สามารถสนับสนุนได้

 
3.แผนด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย งบประมาณรวม 1,591.24 ล้านบาท มีหน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมประมง โดยจะบรรเทาอุทกภัยทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงท้ายน้ำ 


4.แผนด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ งบประมาณรวม 4,328.89 ล้านบาท  มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก เช่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กรมประมง เป็นต้น โดยจะบำบัดน้ำเสียที่ไหลลงบึงหนองหาร และควบคุมวัชพืชไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำ 


5.แผนด้านการบริหารจัดการ งบประมาณรวม 167.15 ล้านบาท มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร สำนักงาน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร เป็นต้น โดยจะปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลหนองหาร 

โดยแผนงานทั้ง 5 ด้านเมื่อมีการขับเคลื่อนจะสร้างประโยชน์ได้มากมาย ได้แก่


1.แก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะจะช่วยชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเพิ่มขึ้นเป็น 88 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิม 43 ล้านลูกบาศก์เมตร 


2.มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 25,000 ไร่ 


3.เพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียสามารถรองรับได้ทั้งเทศบาลนครสกลนครและเทศบาลตำบลท่าแร่ 


4.กำจัดวัชพืชลอยน้ำได้ประมาณ 620,000 ตัน 


5. ขุดลอกตะกอนดินได้ปริมาณ 5.8 ล้านลูกบาศก์เมตร