ราคาข้าวเหนียวแซงหอมมะลิ ผลพวงงดนาปรังทำขาดตลาดหนัก/จี้รัฐเทสต๊อกทำกำไร

22 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
ผู้ส่งออกชี้เผยราคาข้าวเหนียวพุ่งแซงราคาข้าวหอมมะลิ จากภัยแล้งงดทำนาปรังผลผลิตวูบจี้รัฐบาลเร่งระบายข้าวเหนียวในสต๊อก ชี้เป็นโอกาสขายได้ราคางาม "เจริญ"ระบุโรงสีกล่าวหาผู้ส่งออกเบี้ยวค่าข้าวรวมกว่าพันล้านเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ขอตอบโต้ ขณะค้าข้าวโลกซึม เบอร์ 1 อินเดียส่งออกวูบจากเสี่ยงภัยแล้งลดส่งออก

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางราคาข้าวในช่วงจากนี้ไปว่า ในส่วนของข้าวขาว(5%) ทิศทางราคาน่าจะปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากภัยแล้งชาวนาไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ได้ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาข้าวขาวในประเทศปรับขึ้นจาก 11.80 บาทต่อกิโลกรัม ไปอยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันในส่วนของข้าวเหนียวถือมีทิศทางราคาที่ดีมาก เป็นผลจากปกติทุกปีที่ผ่านมาชาวนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะปลูกข้าวหอมมะลิในช่วงฤดูนาปีเป็นหลัก และจะปลูกข้าวเหนียวในช่วงฤดูนาปรัง แต่ปีนี้ฝนแล้งปลูกไม่ได้

"ข้าวเหนียวในตลาดขณะนี้ไม่ค่อยมี ส่งผลให้ราคาข้าวเหนียวขยับขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 27 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นข้าวเหนียวเกรดพรีเมียมราคาประมาณ 45 บาทต่อกิโลกรัมถือว่าแพงกว่าข้าวหอมมะลิที่ปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 22 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุหลักคือพอไม่มีซัพพลายดีมานด์ก็สูง ประกอบกับข้าวเหนียวของเวียดนามเมื่อเดือนที่ผ่านมาราคาเอฟโอบีของเวียดนามที่ขายส่งออกอยู่ที่ประมาณ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันขยับขึ้นมา 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันแสดงว่าข้าวเหนียวเริ่มขาดตลาด"นายเจริญ กล่าวและว่า

จากราคาข้าวเหนียวที่ดีรัฐบาลควรอาศัยจังหวะนี้เร่งระบายข้าวเหนียวที่อยู่ในคลังออกมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเช่น อุตสาหกรรมเหล้า อุตสาหกรรมแป้ง เป็นต้น ทั้งนี้ไทยส่งออกข้าวเหนียวปีละประมาณแสนกว่าตัน

ด้านการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เอกชนส่งออกเพิ่ม 10% จากปีก่อน แต่ปัญหาตอนนี้คือไทยเองต้องแข่งกับเวียดนามเพระถึงราคาข้าวของไทยจะถูกลง แต่ราคาข้าวของเวียดนามก็ยังถูกกว่าของไทย เช่นราคาข้าวหอมมะลิของเวียดนามขณะนี้อยู่ที่ 480-485 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 700-720 ดอลลาร์สหรัฐฯ แพงกว่าเวียดนาม 200-300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งแม้ไทยจะแข่งในเรื่องราคากับเวียดนามยังไม่ได้ แต่ด้านคุณภาพถือว่าได้รับการยอมรับมากกว่า ดังนั้นไทยคงต้องเน้นการส่งออกไปยังตลาดนิยมบริโภคข้างพรีเมียมอย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์

"ส่วนข้าวปทุมธานี ข้าวอุบล 80 ข้าวกข. 33 หรือข้าว กข.9 ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่นิ่มและมีกลิ่นหอมปลูกได้ทั้งปีและให้ผลผลิตสูง ข้าวพวกนี้เราต้องผลักดันให้มีการปลูกมากขึ้นเพื่อส่งออกแข่งกับเวียดนาม ที่แย่งตลาดข้าวหอมของไทยไปได้มาก จากเดิมเขาส่งออกได้ไม่กี่หมื่นตัน แต่ปัจจุบันส่งออกได้ถึงปีละ 1.5-1.6 ล้านตัน ส่วนไทยเคยส่งออกข้าวหอมมะลิปีหนึ่งได้ประมาณ 2.4 ล้านตัน แต่ตอนนี้ส่งออกได้แค่1.3-1.4ล้านต้น"

ด้านการส่งออกข้าวของอินเดียซึ่งเป็นอีก 1 คู่แข่งสำคัญ ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีนี้ส่งออกได้ประมาณ 1.5 ล้านตัน ถือลดลงไปมาก ปีนี้อินเดียคงไม่เน้นส่งออกมากเนื่องจากเจอผลกระทบภัยแล้ง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของรัฐบาลไทยในการระบายข้าวในสต๊อก 12.5 ล้านตัน ซึ่งเอกชนก็หวังว่ารัฐบาลจะปล่อยข้าวเก่าออกมา เพราะขณะนี้ความต้องการข้าวจากแอฟริกายังมีอยู่น่าจะช่วยให้การส่งออกดีขึ้น จากความต้องการข้าวเก่าในตลาดแอฟริกาตกประมาณ 2.5-3 ล้านตันต่อปี ส่วนตลาดข้าวนึ่งยังคงเงียบๆจากตลาดหลักคือไนจีเรียมีปัญหาเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศมีราคาที่ลดลง

แต่ทั้งนี้เชื่อว่าในช่วง1-2เดือนจากนี้ไนจีเรียน่าจะมีการซื้อข้าวเพราะสต๊อกในประเทศเริ่มร่อยหรอ
ส่วนกรณีที่สมาคมโรงสีข้าวไทยระบุเรื่องถูกผู้ส่งออกเบี้ยวค่าข้าวช่วง 10 กว่าปีกว่า 1 พันล้านบาทนั้น ทางสมาคมไม่ได้เข้าไปยุ่งเพราะเป็นการซื้อขายแบบฟรีเทรด คงไม่เข้าไปเจาะลึกว่าเป็นใคร และสมาคมคงไม่ตอบโต้เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ขณะที่เวลานี้โรงสีเองก็ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออกมาขึ้น และยังมีต้นทุนที่ถูกว่าผู้ส่งออกเนื่องจากไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย เหมือนกับผู้ส่งออกที่ต้องเสีย0.75% ให้กับกระทรวงการคลัง เรื่องนี้ผู้ส่งออกเองก็พยายามเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้วว่าควรเก็บ0.75%ทั้ง2 ฝ่ายในขั้นตอนของการส่งออก เพื่อความเป็นธรรมหรือถ้าไม่เก็บก็ต้องยกเลิก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559