สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยการเมืองฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน

14 ก.ย. 2563 | 08:46 น.

FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนพ.ย.อยู่ในเกณฑ์ซบเซา ชี้นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจ และมองการเมืองในประเทศเป็นตัวฉุดมากที่สุด

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าเดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ลดลง 21% มาอยู่ที่ระดับ 67.52 โดยนักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการเงินของสหรัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน รวมถึงความคาดหวังการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 

 

ขณะที่ ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจัยรองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป

 

ขณะที่ ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในระดับ “ทรงตัว” โดยความเชื่อมันกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 90.63 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับขึ้นมาที่ 100.00 และกลุ่มสถาบันในประเทศปรับลดลงมาอยู่ที่  87.50 ยกเว้นความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในกลุ่ม “ซบเซาอย่างมาก" ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคารพาณิชย์ (BANK)

“ช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 1,321.23—1,346.69 จุด จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว จากนั้น ดัชนีปรับตัวลดลงหลังจากการประกาศจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งหดตัว –12.2% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศหลังจากมีการชุมนุมในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือน ความกังวลต่อการระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 2 ปี 2563 ที่กำไรออกมาไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐ ทั้งที่มาจากการเบิกจ่ายในงบประมาณ และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของภาครัฐ โดยณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,310.66 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม"

 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ล่าช้าออกไป และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของการต่ออายุมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุ ความเสี่ยงด้านการว่างงานและการปิดกิจการที่อาจเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงความไม่สงบทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า คาดการณ์การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนกันยายนนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้ว และรัฐบาลมีการออกมาตรการด้านต่างๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 0.92% และ 1.51% ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ เแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว และอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการออกพันธบัตรเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ