คนยิ่งเยอะ ยิ่งติด ! หมอธีระ แนะไทยชะลอรับนทท.อย่างต่ำ6เดือน

13 ก.ย. 2563 | 09:44 น.

“หมอธีระ” สรุปสถานการณ์โรคโควิด-19 ผ่านข้อสังเกต 3 ข้อ แนะรัฐยุติ หรือชะลอนโยบายรับนักท่องเที่่ยวต่างชาติอย่างต่ำ 6 เดือน ระงับความเสี่ยง หลังข้อมูลชี้ คนยิ่งเยอะ ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเสียชีวิต

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุ สถานการณ์โรคโควิด-19 รอบโลก พร้อมตั้งข้อสังเกตความเสี่ยงของประเทศไทย ร่วมกับ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีใจความสำคัญดังนี้ 

อัพเดตความรู้สุดสัปดาห์...13 กันยายน 2563

1. "ยิ่งคนเยอะ...ยิ่งติดยิ่งตาย"

การศึกษาข้อมูลจำนวนการติดเชื้อและการตายใน 39 ประเทศทั่วโลก พบว่าการมีประชากรมาก เคลื่อนไหวติดต่อกันมาก มีความเป็นเมืองมาก มีการย้ายเข้าเย้ายออก และเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน จะสัมพันธ์กับการมีจำนวนเคสติดเชื้อมากขึ้น และจำนวนการตายเพิ่มขึ้น

สรุปสั้นๆ: การประคับประคองประเทศไม่ให้เกิดการระบาดรุนแรงนั้น จำเป็นต้องระวังเรื่องมาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกไป หากทำให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากร ติดต่อไปมาหาสู่กันมาก หรือเปิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน ก็จะเสี่ยงต่อการระบาดรุนแรง

สถานการณ์ระบาดทั่วโลกรุนแรงอย่างในปัจจุบัน ไทยควรยุติหรือชะลอนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน

คนยิ่งเยอะ ยิ่งติด ! หมอธีระ แนะไทยชะลอรับนทท.อย่างต่ำ6เดือน

 

2. "พบตัวไวรัสในเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารได้นานถึง 8 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ"

ทีมวิจัยจากสวิสเซอร์แลนด์ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า สามารถตรวจพบตัวไวรัสจำนวนมากจากการดูเนื้อเยื่อบุทางเดินอาหารในชิ้นส่วนลำไส้ที่ผ่าตัดจากผู้ป่วย COVID-19 ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนโดยพบ 8 สัปดาห์หลังจากที่เริ่มติดเชื้อ และเป็นการตรวจพบทั้งๆ ที่ไม่สามารถตรวจเจอในทางเดินหายใจและเลือดของผู้ป่วยแล้ว

สรุปสั้นๆ: พบไวรัสในทางเดินอาหารได้ถึง 8 สัปดาห์หรือราวสองเดือนหลังจากตรวจพบว่าติดเชื้อ ดังนั้นแม้จะรักษาหายแล้ว ควรระมัดระวังเรื่องการใช้สุขา ทำความสะอาดเสมอ ใส่หน้ากากเวลาใช้บริการสุขาสาธารณะ และล้างมือทุกครั้งหลังใช้งาน

3. "คนที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 แล้วมีอาการรุนแรง หรือวิกฤติ มากกว่าผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงถึง 2 เท่า"

Jimenez-Ruiz CA และคณะ ทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบจำนวน 19 ชิ้น พบแนวโน้มที่ชัดเจนว่า คนที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติเคยสูบบุหรี่นั้นจะเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงหรือวิกฤติมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ราว 2 เท่า

สรุปสั้นๆ: ไวรัสโรค COVID-19 นั้นระบาดทั่วโลก ทุกคนมีความเสี่ยง ดังนั้นต้องป้องกันตัวเสมอ และไม่ควรสูบบุหรี่

คนยิ่งเยอะ ยิ่งติด ! หมอธีระ แนะไทยชะลอรับนทท.อย่างต่ำ6เดือน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอธีระ ห่วงอัตราติดเชื้อโควิดเร่งเร็วทั่วโลกทะลุ 29 ล้านคน

กักตัว 42 นักบอล"บุรีรัมย์ยูไนเต็ด" เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงโควิด 569 ราย

4 กลุ่มต่างชาติจ่อเข้าไทย รับคลายล็อกเฟส 6 ดันต่อ ‘Travel Bubble’