อัญมณีโคม่า 500 รายปิดตัว 7 เดือนส่งออกวูบ 6 หมื่นล้าน

13 ก.ย. 2563 | 04:07 น.

 อุตฯอัญมณี 5 แสนล้านระสํ่าหนัก ส่งออก 7 เดือนวูบ 43% มูลค่าหายไปกว่า 6 หมื่นล้าน โรงงานผลิตทยอยปิดกิจการแล้วเกือบ 500 ราย แรงงานกว่า 8 แสนคนนับถอยหลังตกงานเพิ่ม สมาพันธ์อัญมณีฯโวย ขอกู้ก้อนแรก 3 พันล้านได้แค่ 100 ล้าน

 

 7 เดือนแรกปี 2563 การส่งออกของไทยในภาพรวมยังติดลบที่ 7.7% ในจำนวนนี้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแซงสินค้ารถยนต์ขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ของสินค้าส่งออก โดยมีมูลค่าส่งออกรูปเงินบาท 375,993 ล้านบาท (รวมส่งออกทองคำ) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ซื้อมาขายไปเพื่อการเก็งกำไร การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากโรงงานช่วง 7 เดือนแรกมีมูลค่าเพียง 79,432 ล้านบาท ติดลบถึง 43%(มูลค่าหายไป 60,115 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทยอยปิดรง.แล้ว 30%

 

นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกที่ติดลบดังกล่าว เป็นผลจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ลูกค้าต่างประเทศไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา และสินค้าอัญมณีถูกมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่มีความจำเป็นในช่วงนี้ และผลจากโควิดไทยยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญที่นิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ กลับประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้เป็นเวลานานกว่า 7 เดือนแล้ว กระทบรายได้ส่วนนี้ที่หายไป

 ผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นเวลานี้ ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับที่มีประมาณ 1,600 ราย ได้ปิดกิจการชั่วคราว/ถาวรแล้วแล้วสัดส่วนประมาณ 30% (ราว 500 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานเอสเอ็มอียังไม่นับรวมผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมที่มีอีกจำนวนหนึ่ง) คาดจนถึงสิ้นปีนี้จะมีปิดกิจการเพิ่มหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น รวมถึงไม่มีสภาพคล่องเพื่อประคองธุรกิจ คาดการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งปีนี้จะติดลบไม่ต่ำกว่า 35-40%

 

“สมาชิกของเรามีการส่งออกสัดส่วน 90% ของการผลิต เวลานี้เริ่มขาดสภาพคล่อง ภาพรวมของอุตสาหกรรมคาดจะต้องใช้เงินในการเติมสภาพคล่องเพื่อประคองธุรกิจในระยะสั้นประมาณ 5,000 ล้าน และระยะยาวอีกประมาณ 20,000 ล้าน ซึ่งผู้ประกอบการอัญมณีฯ ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอกู้เงินซอฟต์โลนของแบงก์ชาติวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่ปล่อยกู้ผ่านแบงก์พาณิชย์ในรอบแรกประมาณ 3,000 ล้าน แต่ปรากฎได้มาไม่ถึง 100 ล้าน จากผู้บริหารแบงก์พาณิชย์ห่วงแต่เรื่องเอ็นพีแอล เงื่อนไขปล่อยกู้ยังเหมือนเดิมหรือเข้มกว่าเดิม อ้างเงินหมดบ้าง แต่เท่าที่ทราบเขาไปปล่อยกู้ให้กับนอนแบงก์ เช่นเงินติดล้อ ลิสซิ่งบ้าง ดังนั้นขอฝากถึงรัฐบาลให้ช่วยด้วย เพราะไม่เช่นนั้นความช่วยเหลือจะเป็นแค่ราคาคุย”

 

อัญมณีโคม่า 500 รายปิดตัว  7 เดือนส่งออกวูบ 6 หมื่นล้าน

 

 

 

จี้ธปท.กระทุ้งปล่อยกู้

 

นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม รองประธานกลุ่มอุตสาห กรรมอัญมณี และเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย กล่าวว่า สภาพคล่องเป็นปัญหาของผู้ประกอบการมาก จากธนาคารพาณิชย์มีเงื่อนไขที่เข้มงวดในทางปฏิบัติ ไม่มีการผ่อนปรนในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติจากกลัวหนี้เสีย ล่าสุดในส่วนของสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินฯ ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงปัญหาแบงก์เข้มงวดในการปล่อยกู้ซอฟต์โลนก้อน 5 แสนล้านบาทมาก ทาง ธปท.รับที่จะไปหารือกับแบงก์พาณิชย์เพื่อแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ สรุปคือยังต้องรอต่อไป

อัญมณีโคม่า 500 รายปิดตัว  7 เดือนส่งออกวูบ 6 หมื่นล้าน

 

ขณะสถานการณ์อุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่มีแรงงานที่เกี่ยวข้อง 7-8 แสนคน ขณะนี้มีทั้งการลด และปลดคนงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งการลดหรือปลดคนงานที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ หากสถานการณ์โควิดทั่วโลกกลับสู่ปกติแล้วยากที่จะเรียกกลับมา ดังนั้นขอให้รัฐบาลได้ช่วยเหลือเร่งด่วนใน 2 เรื่องใหญ่เพื่อประคองธุรกิจ คือ

 

1.การต่ออายุมาตรการช่วยเหลือแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (จ่าย 62% ของค่าจ้างรายวัน) ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ และ 2.เร่งช่วยเหลือให้เข้าถึงสภาพคล่องได้อย่างแท้จริง

 

“ในส่วนของสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทยที่มีสมาชิกเกือบ 200 ราย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลสมาชิกว่าถึงเวลานี้ได้มีการปลดหรือลดคนงานไปมากน้อยแค่ไหน คาดจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ อีกด้านหนึ่งเราก็ดิ้นช่วยเหลือตัวเอง โดยในเดือนตุลาคมนี้จะจัดงานที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยจะยกขบวนผู้ผลิต ผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไปเปิดบูธเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ซื้อในราคาพิเศษเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้คนงานยังมีงานทำและช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ”

พาณิชย์ช่วยกระตุ้นยอด  

 

 นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่าง ประเทศ เผยว่า เพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทางกรมมีแผนจะจัดงาน บางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ในลักษณะ virtual exhibition (งานแสดงสินค้า และเจรจาธุรกิจเสมือนจริงผ่านออนไลน์) เพื่อแมตชิ่งกับผู้นำเข้า ระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2563 คาดจะมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าครั้งนี้ 500-600 ราย และจะช่วยสร้างรายได้ประมาณ 100-200 ล้านบาท และจะจัดงานครั้งต่อไประหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งหากสถานการณ์โควิดดีขึ้นอาจ สามารถจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีฯในรูปแบบปกติได้ ซึ่งต้องรอลุ้นอีกครั้ง

 

“นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคมนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติฯ ยังเตรียมจัดเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้ออัญมณี และยังเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรีได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค และช่วยสร้างรายได้จากการขายสินค้า และกระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปลายปี ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย”