“ลุงตู่”กู้ 4.3 ล้านล้าน ทำไม ไม่ใช่รัฐบาลที่กู้สูงสุดในประวัติศาสตร์ 

13 ก.ย. 2563 | 02:26 น.

สบน.ชี้ ยังมีช่องกู้ได้อีก ยัน ไม่ใช่รัฐบาลที่ "กู้เงิน"สูงสุดในประวัติศาสตร์  นักวิชาการ ระบุ กู้เยอะไม่ใช่ปัญหา หากฟื้นเศรษฐกิจได้ แนะควรกู้เพิ่มอีก

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยไม่ลงมติ พุ่งเป้าไปที่การไม่มีประสิทธิ ภาพในการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและการกู้เงินจำนวนมากจนนับได้ว่า เป็นรัฐบาลที่กู้เงินมากที่สุด 

 

อย่างที่รู้กันว่า การระบาดของโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อเศรฐกิจโลกอย่างหนัก ทำให้เศรษฐกิจไทยหลีกเลี่ยงได้ยาก เหตุเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการการส่งออกและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ดั้งนั้นเมื่อมีการปิดประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ทำให้รายได้เหล่านี้หายไปด้วย 

 

ส่วนประเด็นเงินกู้ ที่ถูกฝ่ายค้านนำมาอภิปรายว่า รัฐบาลถังแตกนั้น นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เข้าบริหารประเทศ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น รัฐบาลได้ดำเนินการกู้เงินไปแล้ว 3.285 ล้านล้านบาท โดยเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2564 ยังไม่รวมเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งล่าสุดได้อนุมัติวงเงินกู้ไปแล้ว 387,981.8 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 612,081.2 ล้านบาท ซึ่งหากนับวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเต็มจำนวน รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์จะกู้เงินสูงถึง 4.285 ล้านล้านบาท 

 

สำหรับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลระหว่างปี 2555-2557 ทั้งสิ้น 950,000 ล้านบาท และหากรวมพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการ นํ้าและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาทจะมีวงเงินกู้อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท

 

นอกจากนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงทำให้กฎหมายตกไป

“ลุงตู่”กู้ 4.3 ล้านล้าน ทำไม ไม่ใช่รัฐบาลที่กู้สูงสุดในประวัติศาสตร์ 

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณระหว่างปี 2552-2554 รวม 1,097,028 ล้านบาท โดยยังไม่รวมกับพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือไทยเข้มแข็ง เพื่อต่อสู้วิกฤติการเงินโลกที่เกิดขึ้นปลายปี 2551-2552 ซึ่งหากรวมเงินกู้ตามพ.ร.ก.เข้าไปจะสูงถึง 1,497,028 ล้านบาท

 

สุดท้ายเป็นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยมีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ระหว่างปี 2545-2547 รวม 474,800 ล้านบาท และปี 2548-2549 เป็นการใช้งบประมาณสมดุล หลังจากการจัดเก็บรายได้สูงขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตามหากเทียบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเห็นว่า แม้สัดส่วนเงินกู้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่ได้ต่างกันมากนัก ยังคงอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะมูลค่าขิองจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งการเก็บข้อมูลหนี้สาธารณะเริ่มในปี 2547

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช. ผู้อำนวยการสำนักงาน บริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า การกู้ตามกฎหมายหนี้สาธารณะทั่วไปนั้น แบ่งกรอบการกู้ไว้หลายกอง แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการกู้ อาทิ การกู้เพื่อชดเชยขาดดุลและการกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ที่ต้องไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณปีนั้นๆ และ80% ของงบคืนต้นชำระเงินกู้ การกู้เพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ ที่ต้องไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณ และการกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอีก 10% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งทุกกองในขณะนี้ยังไม่มีการกู้เต็มกรอบเพดานที่กำหนดไว้เลย

 

รวมไปถึงการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลและการกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ที่มีการกู้สูงสุดด้วย โดยปัจจุบันกำหนดกรอบเพดานรวมไว้ที่ 6.38 แสนล้านบาท แต่กู้ไปเพียง 5.19 แสนล้านบาทเท่านั้น จึงยังมีความสามารถในการกู้เพิ่มได้อีกระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม หากความต้องการใช้เงินเพิ่มเกินกว่ากรอบที่ได้อนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปแล้วนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะกรอบวงเงินดังกล่าว กำหนดว่าต้องไม่เกิน20% ของวงเงินงบประมาณปีนั้นๆ และ 80% ของงบคืนต้นชำระเงินกู้

 

“เคยกู้ชดเชยขาดดุลและการกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ชนกรอบเพดานที่กำหนด ในยุคไทยเข้มแข็งมาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นมีงบกลางเพิ่มเข้ามาทำให้เพดานการกู้เพิ่มสูงขึ้นไปอีกด้วย ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้จึงไม่ได้กู้สูงสุดในประวัติศาสตร์ แต่ยอมรับว่าหากมองจากตัวเงินกู้ อาจจะดูเป็นตัวเลขที่สูง แต่จะต้องเทียบกับการเติบโตของจีดีพี และการจัดเก็บรายได้ขณะนั้นๆ ด้วย ซึ่งในยุคไทยเข้มแข็งตัวเงินกู้อาจจะไม่สูงเท่ายุครัฐบาลนี้ แต่หากเทียบกับสัดส่วนการเติบโตของจีดีพีแล้ว ถือว่ากู้เยอะกว่า”นางแพทตริเซีย กล่าว 

 

ส่วนการกู้ตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ต้องแยกออกจากกรอบกู้ปกติเนื่องจากเป็นการกู้ในกรณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งข้อมูลล่าสุด ได้กู้ไปแล้ว 3.3 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 2.97  แสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยแบ่งเป็น เงินเยียวยาประชาชน 1.59  แสนล้านบาท เงินเยียวยาเกษตรกร 1.14 แสนล้านบาท เงินเยียวยาผ่านบัตรคนจน 3 พันล้านบาท เงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง 2 หมื่นล้านบาท 

 

ส่วนงบฟื้นฟูฯ ครม.อนุมัติใช้งบกลางที่รับโอนจากพ.ร.บ.โอนงบฯ ขณะนี้ เบิกจ่ายไปแล้ว 800 ล้านบาท จากวงเงินที่ครม.อนุมัติประมาณ 4  หมื่นล้านบาท ฉะนั้นจึงยังมีกรอบเงินกู้คงเหลือวงเงินที่ยังไม่กู้ 6.7 แสนล้านบาท

นักวิชาการ ระบุ กู้เยอะไม่ใช่ปัญหา หากฟื้นเศรษฐกิจได้ แนะควรกู้เพิ่มอีก 

ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า การเกิดโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นการที่รัฐบาลจะกู้เงินในระดับสูง หรือสูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หรือสร้างผลเสียต่อความเชื่อมั่นใดๆ  เพราะการกู้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ถือว่ายังกู้ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อย่าง ยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น ที่มีอัตราการกู้ในระดับสูงมาก 

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังกู้เงินไม่ถึงกรอบเงินกู้ที่กำหนดไว้ โดยใช้ไปเพียง 10-20% เท่านั้น ดังนั้นยังมีช่องที่ยังพอให้กู้ได้อีก และถึงแม้ว่าจะกู้เต็มเพดาน ก็จะทำให้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 59% ต่อจีดีพี ไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังแต่อย่างใดด้วย 

 

ทั้งนี้ในทางกลับกันหากรัฐบาลไม่กู้ อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่า ดังนั้นจึงมองว่า หากจำเป็นรัฐบาลยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก โดยขยายกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพีขึ้นไปอีกได้ โดยที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ

 

“ถ้าเทียบสหรัฐ กับยุโรปขณะนี้มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 100% ส่วนญี่ปุ่นทะลุไป 200% แล้ว เราถือว่าน้อยมาก ดังนั้นสามารถกู้เพิ่มได้อีก และที่ผ่านมาเห็นแล้วว่า เรายังกู้ได้และได้ดอกเบี้ยต่ำด้วย แสดงว่าเรายังมีความน่าเชื่อถือ เพราะทุกอย่างยังอยู่ในดัชนีชี้วัดที่มีเสถียรภาพอยู่”นายสมชาย กล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,609 วันที่ 13 - 16 กันยายน พ.ศ. 2563