ตกงานทะลัก ขอชดเชยว่างงานพุ่ง 113%

12 ก.ย. 2563 | 04:57 น.

แรงงานไทยอ่วม ตัวเลขขอชดเชยว่างงาน ก.ค.พุ่ง 113.96% จากปีก่อน ทีดีอาร์ไอปรับจีดีพี ติดลบ 7-9% ส่งผลว่างงาน-ว่างงานแฝง 2-3 ล้านคน แนะรัฐอัดงบท้องถิ่นกระจายรายได้

 แนวโน้ม เศรษฐกิจไทย ยังเผชิญความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะเมื่อเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ความความไม่แน่นอนจากตลาดการเงินโลก อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปิดกิจการขอผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่มีความเปราะบางทางการเงินและอาจส่งผลต่อ การจ้างงาน และความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

 

ล่าสุด สํานักงานประกันสังคม รายงานตัวเลข ผู้ขอรับชดเชยการว่างงาน เดือนกรกฎาคมพบว่า มีทั้งสิ้น 410,061 คน คิดเป็น 3.67% ของจำนวนผู้ประกันตน(มาตรา 33) 11,168,914 คน เพิ่มขึ้น  14,368 คนหรือ 3.63% จากเดือนก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นถึง 218,404 คน หรือ 113.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตกงานทะลัก ขอชดเชยว่างงานพุ่ง 113%

TDRI คาดทั้งปี 3 ล้านคน

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทีดีอาร์ไอคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 7-9% จากเดิมที่คาดการณ์จะติดลบ 5.3% จากสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา จึงคาดว่า จะมี คนตกงาน เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่า จะมีคนตกงาน 1-2 ล้านคน

ตกงานทะลัก ขอชดเชยว่างงานพุ่ง 113%

ทั้งนี้จะแบ่งเป็น ผู้ว่างงาน แบบสมบูรณ์คือ ผู้ที่ตกงาน ถูกเลิกจ้างและได้รับสิทธิ์ประกันสังคม ซึ่งมี 7 แสนถึง 1 ล้านคน ส่วนที่เหลือคือ ผู้ว่างงานชั่วคราว จากการปิดกิจการชั่วคราวของนายจ้าง ซึ่งส่วนนี้ถือว่ามีสูง และน่าเป็นห่วง เพราะในที่สุดหากสถานการณ์ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ คนกลุ่มนี้ก็ยังขาดรายได้ เปรียบเสมือนคนตกงานเช่นกัน

 

ห่วงว่างงานแฝง

“การว่างงานแฝงเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะคนที่ยังไม่ตกงาน แต่ไม่มีรายได้มีเยอะมาก ซึ่งก็เทียบเท่ากับว่า เขาตกงานแล้วเช่นกัน ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจติดลบหนักกว่าที่คาดการณ์ไว้”

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการฟื้นเศรษฐกิจให้ติดลบน้อยลง นอกจากรัฐบาลจะต้องเร่งกระจายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาทออกให้เร็วที่สุดแล้ว รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ท้องถิ่นคิดโครงการ เพื่ออัดงบลงสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เป็นการกระจายรายได้ทางตรงให้กับชุมชน และหากไม่พอ อาจต้องออกมาตรการแจกเงิน เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ต้องเลือกให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริงๆ

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตัวเลขการว่างงานในประเทศไทยมี 2 ตัวเลขคือ ตัวเลขทางการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งอยู่ที่ 1.9% หรือประมาณ 7.5 แสนราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่รวมกับจำนวนนักศึกษาที่ยังหางานทำไม่ได้ หากไม่นำส่วนนี้มารวมจะเหลือ 3 แสนราย ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ที่อัตราการว่างงานช่วงโควิด-19 จะอยู่ในระดับดังกล่าว

 

ทั้งนี้ คงเป็นผลจากการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติใช้เกณฑ์องค์กรระหว่างประเทศ  ซึ่งเป็นการสุ่มตัวอย่างในรอบสัปดาห์  โดยหากในสัปดาห์มีผู้ทำทำงานเพียงแค่ 1 ชั่วโมง  จะมีรายได้หรือไม่ก็จะถือว่าเป็นผู้มีงานทำ ซึ่งเป็นการสำรวจแรงงานต่างด้าวรวมอยู่ด้วย  ทำให้ตัวเลขผิดเพี้ยนมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ทำให้อัตราว่างงานของไทยช่วงที่ผ่านมา  ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร  เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในประเทศ การว่างงานก็จะอยู่ที่ 1% มาโดยตลอด หรือประมาณ 3-3.9 แสนราย

 

ตกงานทะลัก ขอชดเชยว่างงานพุ่ง 113%

 

 ส่วนตัวเลขคนตกงานที่ภาคเอกชนและกระทรวงแรงงานมีจะมากกว่า โดยประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ 3-3.5 ล้านราย หรืออย่างดีที่สุดก็ประมาณ 2 ล้านราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับข้อมูลของทีดีอาร์ไอ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่รายงานออกมา ดังนั้นส่วนตัวจะใช้ตัวเลขดังกล่าวนี้มาตั้งแต่ช่วงเกิดโควิด-19 ตัวเลขผู้ว่างงานปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ 2-3 ล้านราย

 

ด้านตัวเลขการว่างงานจนถึงสิ้นปีนั้น  มองว่าเวลานี้ สถานการณ์เริ่มฟื้นตัวกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น  และเชื่อว่าตัวเลขที่ปรากฎออกมาล่าสุดน่าจะเป็นจุดที่ต่ำสุดแล้ว  โดยปัจจัยหลักที่สำคัญเวลานี้น่าจะอยู่ที่การส่งออก  ซึ่งเปราะบางมากและขึ้นกับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก  ไม่เหมือนกับภาคอุตสาหกรรมที่ลงทุนไปแล้ว และต้องพยายามรักษาสภาพธุรกิจเอาไว้ แม้จะมีมาตรการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์  ดังน้้นตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านราย เนื่องจากการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ และจะทรงตัวไปจนถึงปี  2564

ธปท.จี้ฟื้นศก.ในประเทศ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่ประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า แนวโน้มในไตรมาส 3 และ 4 จะยังคงเห็นตัวเลขว่างงานเพิ่มได้อีก แต่อัตราเพิ่มคงไม่มาก เพราะจุดหนักสุด ภาพรวมอัตราว่างงานชั่วคราวได้เพิ่มสูงในไตรมาสสองของปีนี้แล้ว ซึ่งเป็นอัตราว่างงานชั่วคราวที่เพิ่มเข้ามา แต่ยังไม่แน่ใจอัตราว่างงานถาวร เพราะเรื่องแรงงานว่างงานจะช้ากว่า ภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากต้องใช้เวลาโดยหากภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจต้องปิดกิจการ

ตกงานทะลัก ขอชดเชยว่างงานพุ่ง 113%

 

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 การค้าระหว่างประเทศจะไม่ขยายตัวสูงเหมือนอดีต แต่จะเห็นการเคลื่อนย้ายประชากรไปอยู่ต่างจังหวัด จึงเป็นโอกาสที่จะเน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็งเทียบเคียงชดเชยการค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะภาครัฐและเอกชนใช้โอกาสนี้ให้ต่างจังหวัดเท่าเทียมมากขึ้น และมีความสมดุลในการพึ่งพิงตัวเอง ด้วยการกระจายตัวของเศรษฐกิจให้ทั่วถึงและเชื่อมโยงภูมิภาคให้มากขึ้น ซึ่งธปท.พยายามเชื่อมโยงเรื่องการชำระเงิน

 

12 ล้านเสี่ยงรายได้หด

ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากลล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ เศรษฐกิจยังไม่กลับมา เพราะกว่าที่กำลังซื้อจากต่างประเทศจะกลับมา คาดว่าต้องใช้เวลาเป็นปี แต่หากมองว่า เวลาไม่นาน การทำนโยบายหรือเตรียมความพร้อมอาจไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจมีปัญหาได้ เห็นได้จากบริษัท ห้างร้านที่ขาดสภาพคล่อง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไปและได้รับผลกระทบ สำหรับอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นเกี่ยวข้องแรงงานราว 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานหรือประมาณ 12 ล้านคน มีแนวโน้มรายได้ลด

ตกงานทะลัก ขอชดเชยว่างงานพุ่ง 113%

 

ทั้งนี้ แนวโน้มที่คนต่างจังหวัดกลับท้องถิ่น ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสให้มีการซื้อและขายระหว่างกัน ซึ่งผลจากการทำโฟกัสกรุ๊ปพบว่า มี 5 ปัจจัยคือ 1.คนมีกำลังซื้อกลับไปอยู่บ้าน เพราะมีเงินออม 2.ทุกคนเรียนรู้การใช้ดิจิทัลมากขึ้น 3.มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเมื่ออยู่ใกล้พ่อแม่ 4.การอยู่รวมกันเป็นสังคม และ 5.เหตุการณ์โควิดบังคับให้คนอยู่บ้าน หรืออยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนเท่าเทียมกันมากขึ้น

 

 “กรุงศรีฯได้ทำ StressTest พบว่า ถ้าสภาพคล่องหายไป จะทำให้คนหลุดออกจากแรงงาน ซึ่งน่ากลัวมากหลายคนคิดว่าโควิดหาย แล้วจะโอเค แต่มันจะมี Permanent Effect เพราะอาจใช้เวลาอีก 2 ปีกว่าวันนั้นจะกลับมา ถ้าคนออกจากกำลังแรงงานไป บริษัทห้างร้านล้มหายไป กำลังการผลิตของประเทศหายไประยะยาว ศักยภาพของประเทศหรือจีดีพีจะหายไป 0.5%ต่อปี ถือว่า มหาศาล”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรุงไทยคาดใช้เวลา4 ปีฟื้นท่องเที่ยว ประเมินรายได้ปีนี้หดตัว 70%

"กสิกรไทย"มองดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้า แกว่งในกรอบ 1,240-1,300 จุด

ลุ้นเคาะค่าต๋งe-KYC ครั้งละ 150-200 บาท

ดิจิทัลไอดี กดปุ่มบริการ ต้นปี64

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10 - 12 กันยายน พ.ศ. 2563