ไทยยูเนี่ยน บริหารองค์กรรับมือโควิด-19

12 ก.ย. 2563 | 04:26 น.

สิ่งที่ต้องทำ คือ การทบทวนเรื่องการบริหารจัดการ หรือ Right Sizing the Organization ให้เหมาะสมกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีกสองสามปีข้างหน้า

วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกือบทุกองค์กร ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกระบวนการทำงาน ด้วยเป้าหมายการควบคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย ควบคู่กับการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้า ซึ่งเรื่องนี้ ซีอีโอ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) “ธีรพงศ์ จันศิริ” ตระหนักดี

ไทยยูเนี่ยน บริหารองค์กรรับมือโควิด-19

ความที่ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป็นองค์กรใหญ่ มีธุรกิจในหลายประเทศ มีพนักงานในเครือข่ายกว่า 4.5 หมื่นคน ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง เพราะฉะนั้น การจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ "ธีรพงศ์" ในฐานะแม่ทัพใหญ่ ต้องให้ความสำคัญใน 3 ส่วนหลัก

หนึ่ง คือ "พนักงาน" ที่ต้องใส่ใจตั้งแต่เริ่มต้น ในเรื่องความปลอดภัย ความเป็นอยู่ และสุขภาพ ที่ให้การดูแลเป็นอันดับต้นๆ สอง "ผู้บริโภค" ต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าสินค้ามีความปลอดภัย ไม่มีการติดเชื้อไปสู่ผู้บริโภค และสาม "การดำเนินธุรกิจให้เกิดความต่อเนื่อง" ธุรกิจของไทยยูเนี่ยนฯ หลักๆ คือการผลิต ที่จำเป็นต้องใช้พนักงานหลายหมื่นคน เพราะฉะนั้นต้องทำให้ทุกคนมั่นใจในความปลอดภัย ในสถานที่ทำงานต้องมีมาตรการที่จะไม่ให้มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อในโอเปอเรชั่น

เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงวิกฤติ ก็มีหลายส่วนที่นำมาปรับใช้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน "ธีรพงศ์" มองว่าในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนเรายังต้องเดินทางเยอะเหมือนในอดีตหรือไม่ รวมถึงตัวเขาเอง ที่กว่าครึ่งหนึ่งของเวลาในการทำงาน คือการเดินทาง ในขณะที่เมื่อมีการเปิดประเทศกันอีกครั้ง การเดินทางไปต่างประเทศก็น่าจะต้องลดปริมาณลง มีการนำเทคโนโลยีเข้าใช้ เพื่อลดความเสี่ยง

"วันนี้เป็นโอกาสให้เราได้กลับมาคิดใหม่ว่า เราจำเป็นต้องเดินทางมากเหมือนในอดีตหรือไม่ ผมเชื่อว่าเมื่อประเทศเริ่มเปิดใหม่ๆ การเดินทางต่างๆ ในต่างประเทศน่าจะลดน้อยลงไปมากพอสมควร รวมถึงโลกธุรกิจ ผมคิดว่าการเดินทางน่าจะลดลงเช่นกัน โดยการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้มากขึ้น"

"ธีรพงศ์" บอกว่า ในฐานะ ผู้บริหาร ต้องคิดวางแผนสำหรับเหตุการณ์หลังโควิด ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจทั้งโลกจะต้องถดถอย และต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าธุรกิจหรือเศรษฐกิจจะกลับเข้าที่เหมือน ธุรกิจจะอยู่อย่างไรในปีสองปีข้างหน้าที่เศรษฐกิจยังคงถดถอย กำลังซื้อที่ลดลง พฤติกรรมและวิธีการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป เราจะดำเนินงานกันอย่างไร

ไทยยูเนี่ยน บริหารองค์กรรับมือโควิด-19

ในแง่องค์กรของไทยยูเนี่ยน วิธีการทำงาน การทำงานจากบ้าน ก็สามารถทำอย่างมีประสิทธิภาพได้ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ วิกฤตินี้ได้เข้ามาช่วยเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ การทบทวนเรื่องการบริหารจัดการ หรือ Right Sizing the Organization ให้เหมาะสมกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีกสองสามปีข้างหน้า

เรื่องของทักษะพนักงาน ต้องเพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น จากในช่วงโควิดทีมงานของไทยยูเนี่ยน ได้แสดงให้เห็นศักยภาพด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง การส่งสินค้า การสั่งซื้อทางออนไลน์ ทำให้สามารถขยายยอดขายปลาทูน่าในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้ถึงสามเท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ซีอีโอคนนี้รู้สึกชื่นชมทีมงานของเขาอย่างมาก และคิดว่าจะต่อยอดสร้างโอกาสจากวิกฤติครั้งนี้ ทำให้ช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้นมากในอนาคต
ไทยยูเนี่ยน บริหารองค์กรรับมือโควิด-19
ซีอีโอท่านนี้ ทิ้งข้อคิดให้กับพนักงานทั่วไปด้วยว่า...ในแง่คนทำงาน ลูกจ้างหลายคนอาจกังวลว่าบริษัทจะไปรอดหรือเปล่า ตัวเขา ครอบครัวเขาจะรอดหรือไม่ สิ่งที่ควรทำ คือ พนักงานทุกคน ควรเรียนรู้และเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงาน ความรู้ ทักษะ ให้สอดรับกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มีความจำเป็น ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย Low Performance จะเป็นกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ถ้าคนเหล่านี้ไม่ปรับและพัฒนาตัวเอง เขาจะเป็นแรงงานกลุ่มแรกๆ ที่มีปัญหา

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10-12 กันยายน พ.ศ. 2563