“สังศิต”ชี้แก้รธน.ใช้งบ15,000ล้านไม่ช่วยเศรษฐกิจดีขึ้น

11 ก.ย. 2563 | 12:28 น.

“ดร.สังศิต”ชี้แก้รธน.สูญเงินเปล่า ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น แนะใช้งบ 15,000 ล้าน สร้างฝายเก็บน้ำทั่วประเทศ ประชาชนไม่ต่ำกว่า 6 ล้านครัวเรือน ได้ประโยชน์ตลอดชีวิต

 

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โพสต์เพซบุ๊ก ระบุว่า

 

เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2563 กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “รักษ์ปฐพี คืนชีวิตที่หลากหลายให้ผืนดิน” ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 500 คน ประกอบด้วยข้าราชการ หมอดิน ทุกจังหวัด ตัวแทนเกษตรกร และภาคประประชาชน โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และวิทยากร นักวิชาการ ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาด้วย ได้แก่ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การเสวนาครั้งนี้ว่า “การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการระดมความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการ ให้นำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพในดิน รวมถึงสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการดูแลรักษาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความตระหนัก การรับรู้ และความเข้าใจถึงความสำคัญของวันดินโลกด้วย”

 

ร.อ.ธรรมนัส ย้ำถึงนโยบายรัฐบาลบนเวทีเสวนาว่า ‘ตนได้เร่งรัดให้มีการแจกที่ดินทำกินแก่ประชาชน คือความมั่นคงชีวิตคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้สามารถทำกินได้ ต่อยอดได้ ชีวิตอยู่รอด จึงต้องให้ปัจจัยการผลิต อุปกรณ์ ที่ดินที่ให้เขาต้องดินดี และดินดี ที่สำคัญต้องมีแหล่งน้ำ จะต่อยอดให้สำเร็จต้องจัดการเรื่อง “น้ำ”

 

“คุณภาพชีวิตของเกษตรกร” ต้องขับเคลื่อนให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองได้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีให้เป็นชุมชนเกษตรกรที่เข้มแข็ง’

                                              “สังศิต”ชี้แก้รธน.ใช้งบ15,000ล้านไม่ช่วยเศรษฐกิจดีขึ้น

 

 

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวบนเวทีเสวนาว่า “น้ำ”เป็นปัจจัยสำคัญ การ บริหารจัดการน้ำตลอด 60 ปี หลักคิดของไทย คือเก็บน้ำด้วยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60 ปีผ่านไป เราเก็บน้ำไว้ในพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานรวม ๓๒.๗๕ ล้านไร่ เพียงร้อยละ ๒๒ ของพื้นที่การเกษตร ทั้งประเทศ ๑๔๙.๒ ล้านไร่ ที่เหลืออีก ๑๑๗ ล้านไร่ หรือกว่าร้อยละ ๗๘ เป็นพื้นที่ปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมาจากความผันแปรของสภาพลม ฟ้า อากาศ

 

“เราได้น้ำจากฝนตกทั่วประเทศ ๗๔๗,๘๘๒ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เราต้องการน้ำใช้ทั้งประเทศ ๑๔๗,๗๔๙ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เราเก็บน้ำได้ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ประมาณ ๑๐๒,๑๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เราต้องหาที่กักเก็บน้ำเพิ่มให้ได้อย่างน้อย ๔๘,๙๖๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะเพียงพอกับความต้องการ’

 

ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๗ ประเทศไทยพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซากเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าปกติ หรือฝนไม่ตกตามฤดูกาล  จากข้อมูลพบว่าพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซากมีทั้งสิ้น ๗,๔๕๕ ตำบลทั่วประเทศ

 

มูลค่าความเสียหายจากภัยแล้งในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม ปี ๒๕๖๓ ของศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน พบว่ามีมูลค่าความเสียหาย ประมาณ ๒๖,๐๐๐ ล้านบาท

 

“คำถามคือ เราจะเก็บอย่างไร หลักคิดใหมของเรา ไม่ต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ใช้เงินน้อย สร้างได้เร็ว เบ็ดเสร็จ ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติดั่งเดิม ไทยมีลุ่มน้ำทั้งประเทศ 22 ลุ่มน้ำ เราจะเก็บได้ด้วย ‘ฝายแกนซอยซีเมนต์’ หรือเรียกว่าฝายดินก็ได้ เพื่อให้แผ่นดินชุ่มน้ำทุกภาค เราต้องสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ ทุกลุ่มน้ำครอบคลุมใน 22 ลุ่มน้ำ (จาก 25 ลุ่มน้ำหลัก) ซึ่งมีความยาวลำน้ำหลักรวมประมาณ  10,000 กม.เศษ"

 

นายสังศิต กล่าวทิ้งท้ายต่อที่ประชุมเสวนาว่า “การแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังถกเถียงกันขณะนี้ ต้องใช้งบประมาณถึง 15,000 ล้านบาท ซึ่งผมมองว่าไม่ช่วยชาวบ้านเลย นิด้าโพลสำรวจความเห็นชาวบ้าน เชื่อว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วไม่ช่วยเศรษฐกิจดีขึ้น การเมืองเหมือนเดิม แก้รัฐธรรมนูญจะสูญเสียเงินโดยชาวบ้านไม่ได้อะไร นอกจากสนองความต้องการนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น”

 

“แต่ถ้านำงบประมาณ 15,000 ล้านบาทที่จะใช้แก้รัฐธรรมนูญ สามารถสร้างแหล่งน้ำในลำน้ำหลักได้ถึง 75,000 แห่ง ได้ 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ประชาชนไม่ต่ำกว่า 6 ล้านครัวเรือนได้ประโยชน์ตลอดชีวิต” รศ.ดร.สังสิต ระบุ