หัวใจสำคัญของการทำเกษตรทุกๆอย่างคือน้ำ แต่ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาประสบการณ์ที่เกษตรกรคนหนึ่งพบเจอคือ “ปัญหาน้ำแล้ง” ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญเพราะนั่นคือสาเหตุที่ทำให้“ไม่มีรายได้”
สันต์ จอมพล เจ้าของไร่ลุงสันต์ เกษตรกรตำบลบางคู้ จ.ลพบุรี เล่าว่า ปัญหาน้ำแล้งทำให้ต้องหาทางแก้คือต้องดิ้นรนหางานทำ ทั้งรับจ้างฉีดยาฆ่าแมลงในพื้นที่ที่มีนำ้เพียงพอสามารถทำการเกษตร เพื่อให้พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ที่อาศัยอยู่บนผืนดินขนาด 20 ไร่ และได้เช่าเพิ่มอีก 10ไร่ ต้องการน้ำมากพอๆกับที่เจ้าของต้องการมีรายได้ประทังชีวิต จึงเท่ากับว่า“น้ำคือชีวิต” แต่ปัญหานี้ก็วนเวียนเหมือนจะไม่มีทางออกกระทั่ง กรมชลประทาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำเพื่อการบริหารจัดการน้ำแม้แทบจะไม่มีน้ำให้จัดการก็ตาม
“จะทำนาได้ก็ต่อเมื่อมีน้ำ แต่ถ้าไม่มีน้ำจะต้องเปลี่ยนไปเลี้ยงปลา ปลูกมะพร้าว ปลูกกล้วย เป็นไร่นาสวนผสม แต่โดยรวมแล้วถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อไม่มีน้ำปลูกอะไรก็ไม่งาม แต่เมื่อราชการให้คำแนะนำเรื่องการกักเก็บน้ำก็เริ่มนำองค์ความรู้ต่างๆมาใช้และปรับการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ”
หลังการนำแนวคิดเกษตรยุคใหม่มาใช้จัดการในพื้นที่ ทำให้พอมีรายได้เป็นรายวันละ 400-500 บาท ซึ่งหากมีน้ำมากพอสามารถทำนาได้ก็จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และคำว่าเงินเก็บและการลงทุนทั้งสร้างบ้าน ขุดบ่อบาดาล หรือแสวงหาองค์ความรู้อื่นๆก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ความฝันในอากาศอีกต่อไป
การเกษตรยุคใหม่ จะไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อรอให้ปัญหาวนกลับมาในอีกปีถัดไป แต่จะต้องนำองค์ความรู้มาวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำขณะเดียวกันต้องมองไกลออกไปถึงการวางแผนเพาะปลูกพืชผลการเกษตรด้วย นอกจากนี้ต้องป้องกันปัญหาใหม่ที่อาจเกิดขึ้นและที่สำคัญสามารถนำไปสู่การพยากรณ์ปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ “น้ำ”ได้อย่างแม่นยำและแน่นอน
กิตตินันต์ รัตนพัสสิริ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม เล่าว่า ปัญหาน้ำแล้งในปีนี้ค่อนข้างหนักโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง อย่างจังหวัดลพบุรี ยกตัวอย่างพื้นที่ตำบลบางคู้ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี พบว่าเผชิญกับภัยแล้งหนักมาก จึงต้องใช้การบริหารจัดการน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชน
รูปแบบการจัดการน้ำที่นำมาใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาหนักมากเช่นนี้ มีทั้งรูปแบบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม นำเครื่องสูบน้ำจากคลองระบายใหญ่ชัยนาท -ป่าสัก 3 ดึงน้ำช่วยเกษตรกรในพื้นที่โครงการแก้มลิงหนองสมอใส เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอ
การจัดการน้ำเฉพาะหน้าไม่เพียงพอแล้วสำหรับเกษตรยุคดิจิทัล ที่ต้องการการวางแผนระยะยาว โครงการชลประทานจึงได้กำจัดวัชพืชในคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก3เพื่อให้การส่งน้ำเข้าพื้นที่สะดวก สามารถรองรับได้ทั้งกรณีน้ำหลากช่วงหน้าฝน ขณะเดียวกันก็ทำให้พื้นที่แก้มลิงฯมีน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง ก่อนส่งต่อน้ำและความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดจากการบริหารจัดการนี้ไปยังพื้นที่เกษตรอื่นๆ ภายใต้องค์ความรู้เดียวกันนี้
ตอนนี้ทางกรมชลประทาน กำลังเร่งทำคลองเพื่อส่งต่อน้ำจากโครงการแก้มลิงหนองสมอใสเพื่อมาช่วยเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ในการเกษตรต่อไป ทำให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์แผนการเกษตรได้ ซึ่งเป็นวิถีแห่งเกษตรยุคใหม่ที่มองไปข้างหน้าแม้เผชิญความท้าทายอย่างใหญ่หลวงที่มานานหลายสิบปีอย่างภัยแล้งเพราะเมื่อน้ำคือชีวิต แม้น้ำจะแล้งแต่ชีวิตจะต้องไม่แห้งแล้งตามไปด้วย
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @thansettakij