“จุรินทร์”  ชู New normal สู้ส่งออกติดลบ (มีคลิป)

09 ก.ย. 2563 | 14:39 น.

"จุรินทร์" แจง สภา ฯ เดินหน้าปรับ New normal สู้ตัวเลขส่งออกติดลบ  แต่เป็นกันทั้งโลกซึ่งไทยเบาบางกว่า

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

 

วันที่ 9 กันยายน 2563 เวลา 20.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า กรณี สมาชิกพรรคพูดถึงตัวเลขการส่งออกที่ติดลบในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จึงทำความเข้าใจว่าตัวเลขส่งออกติดลบในขณะนี้นั้นเป็นสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกันอยู่เกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะนอกจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อระหว่างจีนกับสหรัฐ และยังมีการปรับรูปแบบไปสู่ความตึงเครียดยิ่งขึ้นในบางช่วง ซ้ำเติมมาด้วยสถานการณ์โควิด ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อัตราการเจริญเติบโตน้อยลงที่เรียกว่าเศรษฐกิจโลกหดตัว ประเทศไทยได้รับผลกระทบและตัวเลขการส่งออกของทุกประเทศในโลกก็ล้วนได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ สำหรับ ประเทศไทย -7.7% แต่เมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลกแล้ว ตัวเลขของเราไม่ได้น่าวิตกไปกว่าประเทศอื่น เช่น อินเดีย  -22.4% ญี่ปุ่น -14.6% เกาหลี - 10.6% ฟิลิปปินส์ -17.8% สิงคโปร์ -10.3% และมาเลเซีย-9.4% เป็นผลกระทบมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะวิกฤตโควิดที่ทุกประเทศได้รับผลเช่นเดียวกัน

 

“จุรินทร์”  ชู New normal สู้ส่งออกติดลบ (มีคลิป)

 

นายจุรินทร์  กล่าวว่า ทางออกของประเทศไทยในสถานการณ์วิกฤตินั้น ท่านนายกได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาแก้ปัญหาในสถานการณ์พิเศษที่เรียกว่า ศบค.เศรษฐกิจ หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และกระทรวงพาณิชย์ได้ก็จะตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์)ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกันระหว่างส่วนราชการกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนทำงานอย่างใกล้ชิด ว่าทำอย่างไรผ่อนหนักให้เป็นเบาที่สุดในเรื่องของตัวเลขการส่งออกและรูปแบบการค้าการส่งออกได้มีการปรับรูปแบบเข้าสู่ยุค New Normal การปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการค้าออฟไลน์เป็นการค้าแบบออนไลน์ พัฒนาไปถึงขั้นเรียกว่าการค้ารูปแบบไฮบริดที่ผสมระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ ประสานกันเพื่อทำตัวเลขการส่งออกให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ปรากฏผลเป็นอย่างดีและรัฐบาลได้สร้างทัพนักธุรกิจยุคใหม่ที่เรียกว่าทัพนักธุรกิจการค้าออนไลน์ขึ้นมาทั้งเพื่อให้มีศักยภาพในเรื่องการค้าออนไลน์ในประเทศและด้านการส่งออกโดยให้การอบรมให้ความรู้เป็นกรณีเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัย กระทรวงพาณิชย์ก็มีนโยบายและโครงการชัดเจนที่ต้องการปั้นคนเหล่านี้ที่เรียกว่าคนเจนซีให้เป็นซีอีโอ(Gen Z to be CEO) เพื่อสร้าง ซีอีโอเจนซีขึ้นมาให้มีศักยภาพและมีความรู้ในการที่จะค้าออนไลน์และเป็นทัพหน้าในการนำรายได้เข้าประเทศต่อไปในอนาคต เริ่มต้นดำเนินการแล้วใน 7 มหาวิทยาลัยในภาคเหนือและจะทำในทุกภาคทั่วประเทศของไทยต่อไปตั้งเป้าหมายว่าในปีนี้เราจะทำให้ได้ 12,000 คน เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการเรื่องการแก้ปัญหาการส่งออกในยุค New Normal