กกต.แบ่งเขต“อบจ.”เสร็จแล้วพร้อม“เลือกตั้งท้องถิ่น”

09 ก.ย. 2563 | 10:40 น.

กกต.พร้อม “เลือกตั้งท้องถิ่น” อบรมให้ความรู้วิทยากรจังหวัดแล้ว "จรุงวิทย์"เผยแบ่งเขตเลือกตั้งอบจ.เสร็จแล้ว ส่งให้เลขาฯ ครม.ประกาศราชกิจจาฯ หากรัฐบาลสั่งเลือกอบจ.ทำได้พร้อมกันทั่วประเทศ

 

วันนี้ (9 ก.ย.63) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นประธานเปิดการจัดอบรมวิทยากรจังหวัด สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้เพื่อให้วิทยากรจังหวัดมีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย เพื่อที่จะได้นำไปอบรมวิทยากรระดับอำเภอเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาตนไปประชุมที่รัฐสภาก็มักจะถูกถามว่า จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด งบประมาณพร้อมหรือไม่

 

“ก็ยืนยันไปว่า กกต.พร้อม โดยกฎหมายให้ กกต.ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลควบคุม ให้การจัดการเลือกตั้งของท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม สิ่งที่กกต.ต้องกำกับดูแลในการเลือกตั้งท้องถิ่น ถือว่ามีความสำคัญ เช่น ในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง กกต.มีมติให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดพิมพ์ เมื่อรัฐบาลมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง เลขาฯ กกต. ก็จะมีหน้าที่ในการไปจัดหาโรงพิมพ์ เพื่อเสนอกกต.พิจารณาต่อไป”


                                     กกต.แบ่งเขต“อบจ.”เสร็จแล้วพร้อม“เลือกตั้งท้องถิ่น”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วางคิว‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ ประเดิม อบจ. ‘กทม.-พัทยา’รั้งท้าย

“105 อาจารย์-นักวิชาการ”จี้รัฐบาลจัด“เลือกตั้งท้องถิ่น”ภายในปีนี้

“เลือกตั้งท้องถิ่น” กกต.เตรียมติวเข้มสื่อมวลชน 11 ก.ย.นี้

 

 

อย่างไรก็ตาม จากการไปชี้แจงวุฒิสภา หรือกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร อยากจะฝากถึงวิทยากร ที่มาเข้าอบรมในครั้งนี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาอย่างการเลือกตั้งส.ส.จังหวัดสมุทรปราการ เรามีการยกหีบไปให้คนที่มีไข้สูง ได้หย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่ก็ถูกร้องเรียนว่าเป็นการดำเนินการไม่ถูกต้อง ซึ่งก็อยากให้ไปพิจารณาว่าจะวางหีบบัตรเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างไรให้โปร่งใส ไม่ถูกร้องเรียนเพราะจะต้องมี 2 ใบ

 

หรือกรณีที่มีการระบุว่า คนที่ทำหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง คือหัวคะแนนที่มาคอยนับว่า คนนั้นคนนี้มาใช้สิทธิ์แล้วหรือยัง การคัดเลือกคนมาเป็นกรรมการประจำหน่วยทำอย่างไรให้ไม่เป็นคนของฝ่ายการเมือง รวมถึงเรื่องของบัตรเขย่ง การจัดการกับหีบบัตรเลือกตั้งหลังการเสร็จสิ้นการนับคะแนน การติดประกาศผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง

 

สิ่งเหล่านี้ในการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา กกต.ถูกโลกโซเชียลถล่มอย่างหนักถึงขนาด จะล้มการเลือกตั้ง ทั้งที่ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ของการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศแล้วเล็กน้อยมาก แต่ข้อผิดพลาด บกพร่องเหล่านี้ ไม่อยากให้เกิดอีก หรือถ้าเกิดก็ควรที่จะน้อยที่สุด

 

"ประชาชนมีการสอบถามเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวนมาก ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อใด หลังรัฐบาลการประกาศแล้วกฎหมายไม่ได้กำหนด ว่าจะต้องมีการเลือกตั้งภายในเมื่อใด แต่กกต.จะพยายามจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว"


 

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น การอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในระเบียบ ข้อกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเลือกตั้งจะได้พร้อมในทันที โดยการเตรียมความพร้อมได้มีการประสานกับกระทรวงมหาดไทยอยู่ตลอดเวลา และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

เมื่อถามว่ามีการส่งสัญญาณจากทางรัฐบาลเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ทราบจากคำสัมภาษณ์และข่าวต่างๆ เห็นท่านประกาศว่าภายในปีนี้จะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างน้อย 1 รูปแบบ ซึ่งเราก็ต้องเตรียมความพร้อม โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)เราได้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว และส่งให้เลขาฯ ครม.เพื่อไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และถ้าหากรัฐบาลให้มีการเลือกตั้งอบจ.ก็สามารถเลือกพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ

 

เมื่อถามว่าถ้ามีการกำหนดให้มีการเลือกตั้ง กกต.จะประกาศกำหนดได้เร็วสุดภายในกี่วัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ถ้ากำหนดทั่วประเทศก็ต้องพร้อม การประชาสัมพันธ์การใช้สิทธิเลือกตั้ง การรณรงค์ต่างๆ จำเป็นต้องใช้เวลา เนื่องจากไม่ได้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน  ผู้สมัครต้องไปหาเสียงกับประชาชน ดังนั้นต้องมีระยะเวลาให้ผู้สมัครพอสมควร

 

 

ส่วนที่อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิดจะมีปัญหางบประมาณหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ทางกระทรวงมหาดไทยบอกว่าได้มีการเตรียมงบประมาณไว้แล้ว ไม่ทราบว่ามีปัญหาติดขัดอะไรหรือไม่ แต่โดยงบประมาณเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด เป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้งบประมาณพอสมควร ไม่เหมือนการเลือกตั้งส.ส.ที่งบประมาณจะอยู่ที่ กกต.

 

ทั้งนี้ในการอบรมวิทยากรจังหวัดครั้งนี้ นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล  รองเลขาธิการ และรักษาการณ์ ผอ. พตส. ยังบรรยายตอนหนึ่งว่า  คนที่จะเป็นผอ.เลือกตั้งท้องถิ่นก็คือปลัดท้องถิ่น แต่เขาก็ห่างเหินจัดการเลือกตั้งมา 8-9 ปี และส่วนใหญ่กำลังเกษียณ ที่เหลืออยู่ก็จะเป็นมือใหม่ ดังนั้น ต้องหาคนคุ้นเคย กับการทำงานเลือกตั้งอบจ.

 

นอกจากนี้การเลือกตั้งในสถานการณ์โควิด-19 หากยึดการจัดเลือกตั้งส.ส.ลำปาง หรือ ลำปางโมเดล มาใช้ในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ควรจะต้องตั้งงบประมาณเพิ่มจากเดิม 30% เพราะหน่วยเลือกตั้งแบบนิวนอร์มอล จะต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิ  เจลแอลกอฮอล รวมถึงลักษณะการจัดหน่วยที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น