"หมอเหรียญทอง" แนะรัฐสร้าง "National Distancing" ล๊อกดาวน์พื้นที่หลังแนวชายแดน

09 ก.ย. 2563 | 07:45 น.

หมอเหรียญทอง แนะรัฐสร้าง "National Distancing " ล๊อกดาวน์พื้นที่หลังแนวชายแดน พร้อมบังคับใช้กฏหมายควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด ป้องกันการระบาด

 

9 กันยายน 2563  พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

 

สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในเมียนมาร์มิได้เป็นภัยคุกคามแค่ชายแดนไทยด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเท่านั้น แต่การระบาดโควิด-19 จากเมียนมาร์จะสามารถลุกลามไปยังลาวได้ เพราะเมียนมาร์มีชายแดนติดต่อกับลาวซึ่งจะส่งผลให้ภัยคุกคามโควิด-19 ขยายผลมายังชายแดนไทยด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวชายแดนลาว-ไทยได้ด้วย ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงความเสี่ยงจากภัยคุกคามโควิด-19 จากเวียตนามที่'อาจ'คุกคามไทยผ่านลาวและกัมพูชา

 

สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศเกิดการระบาดระลอกที่ 2 และบางประเทศก็มีระลอกที่ 3 แล้ว ไทยยังมีแค่ระลอกที่ 1 เพียงระลอกเดียว ไทยจะหวังความโชคดีว่าเกิดระลอกเดียวไม่ได้นะครับ มันประมาท อีกทั้งหากเกิดการระบาดผ่านแนวชายแดนไทย ไม่ว่าจะฝั่งเมียนมาร์ก็ดี ลาวหรือกัมพูชาก็ตาม การระบาดจะกระจายพื้นที่เป็นวงกว้างจากชุมชนตามแนวชายแดนกระจายพื้นที่สู่เมืองรองในภูมิภาคก่อนเข้าสู่เมืองหลักและใจกลางราชอาณาจักรไทย 

 

สถานการณ์การระบาดจะมีรูปแบบการระบาดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการระบาดระลอกแรกที่เกิดขึ้นจากกรุงเทพฯและเมืองหลักแล้วกระจายออกสู่เมืองรองในภูมิภาค การแพร่ระบาดที่มีการกระจายพื้นที่จะทำให้ยากต่อการควบคุมสถานการณ์ อีกทั้งยังทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรทางการแพทย์มาก สิ้นเปลืองงบประมาณสูง ประสิทธิผลการรักษาอาจพร่องลงได้ 

 

 

โดยความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว ผมเห็นว่าหากเราสามารถทำได้ เราควรพิจารณาการเผชิญภัยคุกคามโควิด-19 ในเชิงยุทธการ โดยแบ่งลำดับขั้นปฏิบัติการ [Echelon of Operation] ออกเป็นลำดับขั้นดังนี้

 

1.1 ลำดับขั้นที่ 1 : การเผชิญภัยคุกคามโควิด-19 นอกราชอาณาจักรไทย (เปรียบเสมือนการขยับขอบหน้าพื้นที่การรบออกนอกชายแดนไทยออกไป) โดยอาศัยความตกลงระหว่างประเทศของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน[Asean Economics Community , AEC] โดยไทยประสานความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อควบคุมสถานการณ์ระบาดให้สามารถควบคุมได้หรือสิ้นสุดลงในประเทศนั้นๆ โดยไทยเสนอตัวเข้าเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงในด้านองค์ความรู้ ความชำนาญ เทคโนโลยี [ส่วนงบประมาณนั้นก็ต้องแล้วแต่ประเทศใครประเทศมันนะครับ] 

 

ความตกลงระหว่างประเทศของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน[Asean Economics Community , AEC] ผมมะโนเอาเองนะครับว่าน่าจะมีเรื่องความร่วมมือในการจัดการสาธารณภัยรวมอยู่ด้วย ภัยจากโรคระบาด คือ สาธารณภัยครับ ทั้งนี้สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านและแนวชายแดนไทยซึ่งเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ 'ปฏิบัติการร่วมแพทย์ทหาร' ระหว่างกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีการจัดตั้ง 'ศูนย์แพทย์ทหารอาเชียน' อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามยังคงต้องอาศัยทรัพยากรจากฝ่ายพลเรือนซึ่งมีองค์ความรู้ทั้งทางวิชาการและเทคโนโลยี ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่ครบครันมากกว่าสายแพทย์ทหารเป็นสำคัญ

 

1.2 ลำดับขั้นที่ 2 : การปิดชายแดน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างดีแล้ว

 

 

1.3 ลำดับขั้นที่ 3 : การเตรียมพื้นที่กันชน [Buffer area] หลังแนวชายแดน โดยล๊อคดาวน์พื้นที่หลังแนวชายแดนระยะ 1-5 กิโลเมตร(สมมตินะครับ)จากแนวชายแดนแล้วตั้งจุดตรวจสกัดกั้น เปรียบเสมือนการสร้างระยะห่าง [Distancing] ระหว่างประเทศในทำนองเดียวกันกับระยะห่างทางสังคม[Social Distancing]นั่นแหละครับ [ผมขออนุญาตเรียกว่า National Distancing ก็แล้วกันนะครับ] พื้นที่กันชน [Buffer area] หลังแนวชายแดนไทยจะเป็นพื้นที่ล๊อคดาวน์ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น 

 

ภายในพื้นที่กันชนจะใช้หน่วยทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหม-กองทัพกระจายการวางกำลัง โดยมีการจัดตั้ง 'ค่ายกักกันโรค [Buffer State Quarantine]' และ รพ.สนาม สำหรับผู้เล็ดรอดจากลำดับขั้นที่ 2 ซึ่งจำเป็นต้องกักกันโรคและ/หรือรักษาโรคตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เมื่อปลอดเชื้อแล้วให้ส่งกลับประเทศต้นทางตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

 

ด้วยความปรารถนาดีต่อชาติและประชาชนครับ

 

พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา
อดีตนายทหารยุทธการ กรมแพทย์ทหารบก