SCC เนื้อหอมต่างชาติรุมซื้อคึกคัก

13 ก.ย. 2563 | 04:00 น.

นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ SCC สัปดาห์เดียวเกือบ 5,300 ล้าน สวนทางภาพรวมยังขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง โบรกเผยอานิสงส์ดัน SCGP เข้าจดทะเบียน

ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน ยังคงผันผวนตามกระแสข่าวทั่วโลก ทั้งเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 แม้ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลายลง แต่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถูกกระทบอย่างหนักก็ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยดัชนีหุ้นไทยในเดือนสิงหาคม 2563 ปิดที่ 1,310.66 จุด ลดลง 17.87 จุด หรือ -1.34% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ปิดที่ 1,328.53 จุด ซึ่งปิดลดลงมากกว่าเดือนกรกฎาคม ที่ลดลง 10.50 จุด หรือ -0.78% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

 

รายงานข่าวจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ระบุว่า การซื้อขายของ นักลงทุนต่างชาติ ในหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 3 กันยายน 2563 ขายสุทธิ 259,261.65 ล้านบาท สูงกว่าปี 2562 ที่ขายสุทธิ 45,244.85 ล้านบาท และน้อยกว่าปี 2561 ที่ขายสุทธิ 287,458.82 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 3 กันยายน 2563 ลดลง 2,526,930.15  ล้านบาท ส่วนเดือนสิงหาคม ลดลง 184,972.43 ล้านบาท

SCC เนื้อหอมต่างชาติรุมซื้อคึกคัก

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส จำกัดเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม-2 กันยายน 2563 แม้ภาพรวมนักลงทุนจะขายหุ้นไทย แต่เริ่มเห็นแรงซื้อของต่างชาติกลับมาในบางหุ้น โดยหุ้นที่ นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิโดยตรงและผ่าน NVDR คือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) ซื้อสุทธิรวม 5,228 ล้านบาท เป็นการซื้อผ่าน NVDR จำนวน 301 ล้านบาท และซื้อโดยตรง 4,928 ล้านบาท

 

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) ซื้อสุทธิรวม 864 ล้านบาท เป็นการซื้อผ่าน NVDR จำนวน 374 ล้านบาท และซื้อโดยตรง 490 ล้านบาท และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) ซื้อสุทธิรวม 634 ล้านบาท เป็น การซื้อผ่าน NVDR จำนวน 535 ล้านบาท และซื้อโดยตรง 99 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม มองว่า SCC มีแผนจะนำบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้น SCC จองซื้อหุ้นไอพีโอได้ในอัตราส่วน 7.095 หุ้น : 1 หุ้น SCGP ราคาเดียวกับที่จะขายในไอพีโอ จากนั้นจะขึ้นเครื่องหมาย XB วันที่ 10 กันยายน 2563 

 

ทั้งนี้ ธุรกิจ Packaging มีการเติบโตโดดเด่นที่สุดในบรรดา 3 ธุรกิจหลักของ SCC จาก 7 ปีที่แล้วมีสัดส่วนกำไร 10% แต่ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 22% ซึ่งคาดว่าจะสร้างการเติบโตของรายได้ถึง 100 % ใน 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งมุมมองธุรกิจในระยะยาวที่เป็นบวกภายใต้ Business Model ที่แข็งแกร่ง และราคายังปรับฐานลงมาลงมาจน Upside เปิดกว้างเกือบ 15% 

 

สำหรับ SCGP จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,296,680,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยจัดสรรหุ้นจำนวนไม่เกิน 1,294,000 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยของบริษัทไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน) (TCP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCGP ในอัตราส่วน 4.9910 หุ้นสามัญของ TCP ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน และจัดสรรหุ้นไม่เกิน 4,927,000 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) (PPPC) บริษัทย่อยของ SCGP ในอัตราส่วน 0.2092 หุ้นของ PPPC ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCGP

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศ ไทย) ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงาน SCGP ในครึ่งปีหลังคาดว่า จะชะลอลงจากครึ่งปีแรก หลังจากรับแรงกดดันจากปริมาณขายปิโตรเคมีที่ลดลงจากแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงาน VCM จำนวน 29 วันในไตรมาส 3 ปี 2563 และโรงงาน MOC จำนวน 45 วันในไตรมาส 4 ปี 2563

 

ขณะที่ส่วนต่างราคาปิโตรเคมีหลักอย่าง HDPE-Naphtha ในไตรมาส 3 จนถึงปัจจุบันอยู่ระดับ 515 ดอลลาร์สหรัฐตัน และกำไรปกติครึ่งแรกปี 2563 ทำได้แล้ว 57% ของคาดการณ์ทั้งปีที่ 33,000 ล้านบาท 

 

ส่วนปี 2564 คาดว่าผลการดำเนินงานปกติที่ 37,000 ล้านบาท เติบโตได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2560 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รวมทั้งยังได้ประโยชน์ทางตรงจากการผลักดันโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องใน 1-2 ปีข้างหน้า 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10 - 12 กันยายน พ.ศ. 2563