โอกาสทางการค้าในเวียดนาม ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

08 ก.ย. 2563 | 06:29 น.

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

- - - - - - - - - - - - -

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตให้ต้อง ก้าวสู่วิถี New Normal แต่ยังรวมถึงการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งโลก ส่งผลให้นานาประเทศต้องเพิ่มความเข้มงวดด้าน “การค้าระหว่างประเทศ” ทั้งการลงทุน การติดต่อธุรกิจ และการนำเข้า-ส่งออก รวมถึง เวียดนาม ซึ่งได้ ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด

โอกาสทางการค้าในเวียดนาม ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

การดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของเวียดนามส่งผลดีต่อประเทศเป็นอย่างมาก  เนื่องจากช่วยให้จำนวนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาด ผู้ประกอบการในเวียดนามสามารถกลับมาเปิดกิจการและเริ่มการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เห็นได้จากการที่เวียดนามได้รับการจัดอันดับ เป็นอันดับที่ 22 ในฐานะประเทศที่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด โดยการจัดอันดับของบริษัท PEMANDU Associates บริษัทที่ปรึกษาเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม เรื่องดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีต่ออนาคตของเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทย-เวียดนาม และอาจเป็นตัวเร่งสำคัญที่จะทำให้ไทยได้ปรับตัวเพื่อดำเนินการค้ากับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในระยะต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

 

ภายหลังจากที่เวียดนามสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวได้อย่างดีแล้ว เวียดนามก็เร่งกระตุ้นการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทันที อาทิ การออกนโยบายพิเศษด้านโครงสร้างพื้นฐาน สินเชื่อ น้ำ และไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของโครงการขนาดใหญ่และโครงการไฮเทค รวมถึงการลดอุปสรรคการลงทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามยังได้ขอให้จังหวัดและเมืองในเขตเศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ เป็นผู้นำในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย ส่งผลให้การลงทุนจากต่างชาติในประเทศเวียดนามขณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายฐานผลิตจากจีนมายังเวียดนาม เช่น บริษัทในเครือของกูเกิล, แอปเปิล และไมโครซอฟต์ ที่จะเริ่มลงทุนในเวียดนามเร็ว ๆ นี้ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และการหยุดดำเนินงานชั่วคราวของโรงงานในจีนช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มการลงทุนและการผลิตมากขึ้นในเวียดนามเอง เช่น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors) ที่กำลังมองหาโอกาสในการสร้างโรงงานแห่งที่สองในจังหวัด Binh Dinh

โอกาสทางการค้าในเวียดนาม ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

นอกจากการส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศแล้ว เวียดนามยังพยายามเร่งการนำเข้า-ส่งออก เพื่อปรับดุลการค้าให้กลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 นี้ จากมูลค้าการค่าช่วง 5 เดือนแรก ซึ่งลดลงถึง 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผ่านการกระตุ้นการส่งออกสินค้าเกษตรและประมง อาทิ  ข้าว ลิ้นจี่ รวมถึงเร่งนำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น การนำเข้าสุกรจากต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศไทย เพื่อ  ลดราคาเนื้อหมูในตลาดภายในประเทศ โดยเวียดนามได้นำเข้าสุกรจากไทยล็อตแรกจำนวน 500 ตัว เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา  ซึ่งการเร่งการค้าระหว่างประเทศในช่วงเดือนที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้เดือนมิ.ย. 2563 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 17.6% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 14% และมีการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 2563 นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการค้าต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563

 

การบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรียุโรป - เวียดนาม (EVFTA) และข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนยุโรป - เวียดนาม (EVIPA) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะให้ช่วยให้การส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มขึ้น 42.7% ซึ่งจะดัน GDP ของเวียดนามให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ 4.6% ภายในปี 2568 และจะเป็นโอกาสให้เวียดนามเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานโลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการส่งออกสินค้าเกษตร ประมง และสิ่งทอ รวมถึงการส่งเสริมการปฏิรูปการบริหาร ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุน ดึงดูดการลงทุน และเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากยุโรปด้วย

โอกาสทางการค้าในเวียดนาม ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

ผู้ประกอบการไทยสามารถแสวงหาโอกาสจากการปรับตัวและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเวียดนาม ผ่านการเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อป้อนวัตถุดิบในการผลิตให้กับอุตสาหกรรมหลักที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากการขยายตัวของภาคการลงทุนต่างชาติในเวียดนาม และขยายตลาดให้กับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ การเกษตร อาหาร ผลไม้ และประมง เพื่อตอบสนองการใช้จ่ายของประชาชนและชาวต่างชาติในเวียดนาม

 

อย่างไรก็ตาม ความตกลงทางการค้าเสรี EVFTA ระหว่างเวียดนามกับอียู อาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดเวียดนามและอียูจะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างหนัก โดยเฉพาะการส่งออกข้าว และถึงแม้การนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยกับเวียดนามจะสามารถกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติแล้ว แต่ยังคงมีมาตรการด้านการขนส่งระหว่างแดนในช่วงที่ทั้งโลกยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้เพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่มากับสินค้า ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งทางบก เกิดความล่าช้า และมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรติดตามข้อมูลการผ่อนปรนตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่องยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของอียู สู่เทรนด์อาหาร ‘คลีน’ และ ‘กรีน’

ผัก-ผลไม้ไทยไปโลด! ชี้ช่องบุกบาห์เรน-ตลาดอ่าวเปอร์เซีย

ตลาดน้ำผึ้งจีน: ชวนเอกชนไทยไปตีตลาดน้ำผึ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ส่องเทรนด์ออกกำลังกายจีน โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน