สพฐ. นำร่องทดลองลดการบ้านนักเรียน

05 ก.ย. 2563 | 18:30 น.

สพฐ. นำร่องลดการบ้านนักเรียน พร้อมใช้จริง เทอมสอง ปี 2563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ให้ สพฐ.ดำเนินการลดการบ้าน ปรับวิธีวัดและประเมินผลของนักเรียน รวมถึงลดเวลาเรียนของนักเรียน โดยให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยใช้ Active Learning ให้มากขึ้นตลอดจนให้ครูใช้กิจกรรมสอบนักเรียน หรือสอนนักเรียนให้เรียนรู้ในสถานการณ์จริง

 

ตนจึงได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ และมาเสนอให้พิจารณาเพื่อจะมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)และโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 กันยายนนี้

 

"สพฐ.เตรียมนำร่องลดการบ้านให้นักเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 นี้ และจะใช้จริงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดย สพฐ.จะแจ้งแนวทางการเรียนการสอนให้ครู สอนเด็กให้จบในห้องเรียน เช่น ให้ครูใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอน การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน การเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นต้น สพฐ.จะจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้ สพท.และโรงเรียนไปทดลองทำดู และสะท้อนการบริหารจัดการมาว่า เรื่องไหนที่ทำไม่ได้ และทำไม่ได้เพราะอะไร เพื่อให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง" นายอำนาจ ระบุ 

 

ทั้งนี้ โรงเรียนต้องช่วยสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กด้วย เพราะอาจมีพ่อแม่บางคนที่ยังติดภาพว่า นักเรียนจะต้องมีการบ้านแต่ปัจจุบันผู้ปกครองมาบ่นกับตนว่า เด็กได้การบ้านเยอะ เด็กไม่ได้พัก เพราะถ้ามีครูสอน 5 คน ก็ให้การบ้าน 5 อย่างแต่ถ้าครูทั้ง 5 คน มาคุยกันและตกลงว่า จะให้การบ้านเด็กเท่าที่จำเป็นได้หรือไม่ หรือนำเทคโนโลยีมาปรับใช้แทนการให้การบ้าน เป็นต้น 

ส่วนการประเมินครู ประเมินนักเรียน รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายไว้ว่า จะสามารถลดการประเมินของครูได้หรือไม่ เพราะอยากให้ครูสอนและดูแลนักเรียนให้ได้มากที่สุด โดยตนได้มอบให้สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งคณะทำงานไปตรวจสอบว่า กิจกรรมใดบ้างที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อและมีกิจกรรมใดบ้างที่สามารถลดลงได้บ้าง

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือการบริหารงบประมาณ ในปี พ.ศ.2564 โดยทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง แจ้งว่า กรณีที่มีงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ก็ให้หน่วยงานดำเนินการเตรียมความพร้อมในการจัดสรรงบได้ทันที โดยเฉพาะงบลงทุนเพื่อเตรียมหาผู้รับจ้างไว้ก่อน และพร้อมในการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยตนนั้นได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปบริหารจัดการงบประมาณให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 กันยายนนี้เช่นกัน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำนักเรียนผู้พิการ 

ข่าวดี! สพฐ. เปิดสอบครูผู้ช่วย 4,428 ตำแหน่ง

“สพฐ.” จับมือ สปีคซ์ ประเทศไทย ส่งเสริมเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์

สพฐ. เดินหน้ารื้อหลักสูตร ตั้งเป้า “ครูต้องรู้ดิจิทัล-ภาษาอังกฤษ”