กรมเจ้าท่า ตรวจขุดร่องน้ำคลองสน อ่าวนาง

05 ก.ย. 2563 | 11:09 น.

        อธิบดีกรมเจ้าท่า ตรวจพื้นที่ขุดลอกร่องน้ำคลองสน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

 

 นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมนายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจการปฏิบัติงานตามโครงการขุดลอกร่องน้ำคลองสน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่  เพื่อตรวจความคืบหน้าของการดำเนินการ พร้อมมอบแนวทางในการการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมเจ้าท่า โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 และนายมานะ นวลหวาน ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าสาขากระบี่ นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพังงา และคณะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ฯ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยนายธรา วรรณพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ตรัง นายมานพ คงสุข นายช่างขุดลอกชำนาญงาน ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกร่องน้ำคลองสน รายงานความคืบหน้าของโครงการฯ

 

      

 

 

อธิบดีกรมเจ้าท่าฯ เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ได้จัดทำแผนงานโครงการขุดลอกร่องน้ำคลองสน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ แห่งนี้  พร้อมเปิดหน่วยปฏิบัติการขุดลอก ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2563 และเริ่มดำเนินการขุดลอกฯ วันที่ 11 มิถุนายน 2563 ร่องน้ำฯ มีความยาวทั้งสิ้น 3,400 เมตร โดยโครงการฯ ได้กำหนดระยะทางที่ต้องขุดลอก 1,650 เมตร (เฉพาะที่ตื้นเขิน)  และขุดลอกร่องน้ำกว้าง 40 เมตร ลึก 2.50 เมตร (จากระดับน้ำลงต่ำสุด) ระยะเวลา 110 วัน โดยงบประมาณ 2,892,600 บาท และจะได้เนื้อดินที่ได้จากโครงการฯ 140,244 ลูกบากศ์เมตร ทั้งนี้  ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2563 สามารถขุดลอกฯ ได้เนื้อดินประมาณ 102,000 ลูกบากศ์เมตร คิดเป็นร้อยละ 78 ของปริมาณงานทั้งหมด

 

   

 

 

   อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันร่องน้ำคลองสน มีเรือเพลาใบจักรยาว (เรือหัวโทง) ใช้สำหรับท่องเที่ยว 1,000 ลำ เรือสปีดโบ๊ท จำนวน 500 ลำ และเรือทัวร์ขนาดใหญ่ จำนวน 19 ลำ ที่นำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวบริเวณ อ่าวไร่เลย์ ถ้ำพระนาง เกาะไก่ เกาะปอดะ ทะเลแหวก มีปริมาณนักท่องเที่ยวประมาณ 7 แสนคนต่อปี ภายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการฯ จะเกิดประโยชน์กับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ อาทิ ทำให้เรือที่ใช้ร่องน้ำคลองสนสามารถวิ่งเข้าออกได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอเวลาน้ำขึ้น  สร้างความปลอดภัยในการเดินเรือ ทำให้เรือแล่นสวนกันได้โดยสะดวก ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดกระบี่ พร้อมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว 3 จังหวัด (พังงา ภูเก็ต กระบี่) พร้อมเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างทางน้ำ ทางบก และอากาศ  นอกจากนี้  ทรายที่ได้เกิดจากการขุดลอกฯ ได้นำไปถมกลับไปเป็นชายหาดแห่งใหม่ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในกิจกรรมนันทนาต่าง ๆ สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว  และเกิดการสร้างรายได้ในครัวเรือน ชุมชน จังหวัดและประเทศชาติต่อไป