วัดใจ บิ๊กตู่ เลิกLTV-ขยายวีซ่า –ลดค่าโอนบ้านคลุม5ล้าน

05 ก.ย. 2563 | 04:44 น.

 บิ๊กอสังหาฯ ชง6ข้อ เสนอวัดใจ บิ๊กตู่ปลดล็อก  เลิกมาตราการ LTV –ขยายวีซ่า-ลดจดจำนองบ้าน คลุมไปถึงบ้าน ราคา5ล้านบาท –ผ่อน อีไอเอ- เข้าบีโอไอลดต้นทุน

 

 

  เมื่อวันที่3 กันยายนที่ผ่านมา บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญภาคเอกชน  3กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มอีคอมเมิร์ซ กับโลจิสติกส์ เพื่อระดมความคิดและ วิธีขับเคลื่อนภาคธุรกิจต่างๆ ไปสู่อนาคต พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างข้าง ขณะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ล้วนเป็นระดับแถวหน้าของเมืองไทย  ยื่นข้อเสนอ  6ข้อ สำคัญ ผ่อนปรนกฎเหล็ก ให้อสังหาฯเครื่องยนต์ใหญ่ ติดเครื่องเดินต่อได้ หลัง โควิดกระทบธุรกิจทั่วโลกพังเสียหาย  โดยเฉพาะไทยต่างต้องพึ่งพากำลังซื้อต่างชาติ ทั้งภาคท่องเที่ยว ส่งออก อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการจับจ่ายฯลฯ  ขณะกำลังซื้อในประเทศ อ่อนแอ การปฎิเสธสินเชื่อมีสูงการ ทิ้งดาวน์-โอนกรรมสิทธ์มากกว่า 30%   ขณะกลุ่มพอมีกำลังซื้อต่างไม่มั่นใจเศรษฐกิจขอออมเงินชะลอดูท่าที

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย หลังบริษัทร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่เข้าไปหากับรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเสนอหลายด้านในการกระตุ้นกำลังซื้ออสังหาฯในประเทศไทย ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี 3 ก.ย. ว่า แม้ปัจจุบันภาพรวมของตลาดอสังหาฯ หลังสถานการณ์โควิด-19 จะมีทิศทางเริ่้มฟื้นตัวที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังมีความเสี่ยงสูงอยู่ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ต้องพึ่งพาการฟื้นตัวจากสถานการณ์โลกด้วย ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้หลายประเทศยังไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโลกได้ เพราะฉะนั้น ในมุมเอกชน จึงฝากความหวังไปที่รัฐบาล ในการดูแล ออกมาตรการมากระตุ้นสนับสนุน ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นไปตามข้อมูลที่ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ เคยออกมาให้ข่าวก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ตนเองเห็นว่า อาจจะช่วยไม่ได้มากเต็มที่ หากมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อซึ่งควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ไม่ได้ผ่อนปรนยืดหยุ่นร่วมด้วย โดย 6 ข้อเสนอหลักของบริษัทศุภาลัยที่สื่อสารออกไปมีดังนี้

 

1. ขอให้ธปท. พิจารณาการใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ผ่านการกำหนดอัตราสินเชื่อต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 เลื่อนออกไปก่อน หรือ ยกเลิก เพราะเปรียบเป็นมาตรการกระตุ้นตลาดที่จะดำเนินการได้เร็วและง่ายที่สุด สำคัญรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณสนับสนุนเพียงแต่บาทเดียว และอาจมีโอกาสจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากค่าธรรมเนียมต่างๆ ณ วันโอนกรรมสิทธิ์อีกด้วย

 

"มาตรการแอลทีวี เป็นตัวฉุดกำลังซื้อลูกค้า พบจำนวนกลุ่มคนประมาณ 10% หายไปจากตลาด จากเดิมเคยซื้อได้ กลายเป็นซื้อไม่ได้ เพราะยื่นขอสินเชื่อไม่ผ่าน หรือ ได้ไม่เต็ม และกระทบไปยันการซื้อบ้านหลังที่ 2 เป้าประสงค์การบังคับใช้แอลทีวีผิดตั้งแต่แรก ถูกหว่านมายังแนวราบ ซึ่งไม่มีการลงทุนเก็งกำไร ขณะเดียวกัน ณ วันนี้ ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้ไม่มีการเก็งกำไรเกิดขึ้นได้อีก  ไม่จำเป็นต้องบังคับใช้อีกต่อไป "

 

ประการที่ 2 ขอให้รัฐบาลกระตุ้นการลงทุน ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในโครงการบ้านบีโอไอ ซึ่งจะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้กับผู้ประกอบการ ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยเดิมทีมาตรการรูปแบบนี้เคยถูกนำมาใช้กระตุ้นตลาดได้ผลดี แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกไปนานแล้ว ในกลุ่มบ้านราคา 1 ล้าน พื้นที่ต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม บ้านบีโอไอกลุ่มราคา 1 - 1.2 ล้านบาทในตลาดหลัก อย่างกทม.-ปริมณฑล คงไม่สามารถดำเนินการได้ จากต้นทุนราคาที่ดินที่สูงกว่าต่างจังหวัด และปรับตัวขึ้นสูงในหลายทำเล จึงมีการขอขยายฐานเพดานราคาบ้านบีโอไอในกลุ่มไม่เกิน 1.5 หรือ 1.8 ล้านบาทต่อหน่วย เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มคนมีรายได้น้อย ให้สามารถมีที่อยู่อาศัยได้ จากต้นทุนผู้ประกอบการที่ถูกลง

 

 

 

 

ประการที่ 3 ขอขยายเพดานมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% ซึ่งเดิมจำกัดเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 3 ล้านบาท โดยเราเสนอให้ครอบคลุมไปถึงระดับ 5 ล้านบาทแทน เพื่อให้ผู้ซื้อในตลาดใหญ่ ซัพพลายราวครึ่งหนึ่งของตลาดได้รับอานิสงค์อย่างเต็มที่ เนื่องจากปัจจุบันที่อยู่อาศัยกลุ่มต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในตลาด

 

ประการที่ 4 มาตรฐานการจัดสรรที่ดิน ที่ซึ่งแม้ปัจจุบันมีกฎหมาย ข้อระเบียบกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่บางส่วนเป็นข้อจำกัดในการพัฒนา เช่น บ้านเดี่ยว ถูกกำหนดต้องพัฒนาบนที่ดินอย่างต่ำ 50 ตร.ว หรือ บ้านแฝด 35 ตร.ว ขึ้นไป ซึ่งต้องการให้ปรับลดขนาดดังกล่าวลงมาเล็กน้อย เพื่อทำให้ต้นทุนผู้พัฒนาถูกลง ขณะผู้ซื้อเองจะได้ราคาต่ำลงถึง 10-20% ส่งผลซื้อครอบครองได้ง่ายขึ้น เช่น ลดขนาดพื้นที่ของบ้านเดี่ยวลง ให้เหลืออย่างต่ำเพียง 40 ตร.ว หรือ บ้านแฝดอย่างต่ำแค่ 30 ตร.ว เป็นต้น

 

 

 

 

ประการที่ 5 ขอผ่อนปรนเงื่อนไขการยื่นผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น โครงการบ้านจัดสรรพื้นที่ 100 ไร่ขึ้นไปต้องยื่นอีไอเอ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีขั้นตอนเพิ่มเติม จึงอยากให้ปรับรายละเอียดเงื่อนไขลง เช่น ต้องเป็นโครงการที่สัดส่วนพื้นที่  200 ไร่ขึ้น ถึงจำเป็นต้องยื่นอีไอเอ เป็นต้น  เนื่องจากปัจจุบัน โครงการแนวราบส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีรูปแบบการก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน กลับกัน การแข่งกันสร้างพื้นที่สีเขียวในโครงการ ถูกนำมาใช้เป็นจุดขายด้วยซ้ำ  ขณะคอนโดมิเนียมนั้น ตามกฎหมาย ถูกกำหนดโครงการใดมีห้องชุดมากกว่า 79 หน่วย ต้องยื่นอีไอเอ อยากให้กำหนดขั้นต่ำที่จำนวน 240 หน่วยได้หรือไม่

 

สุดท้าย คือ การเสนอให้ส่งเสริมกลุ่มผู้ซื้อคนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย เช่น การเสนอให้วีซ่าระยะยาว หรือฟรีวีซ่า สำหรับการซื้ออสังหาฯตามระดับราคาที่กำหนดแตกต่างกันออกไป ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นตลาดแล้ว การอยู่อาศัยในเมืองไทยระยะยาวของกลุ่มผู้ซื้อดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายในภาคต่างๆ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยได้อีกด้วย

 

"วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่รัฐแสดงความจริงใจ ที่ต้องการจะดูแลช่วยเหลือภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมสำคัญอย่างอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการรับฟังอย่างเต็มที่ ชัดเจน และเป็นระบบ เรามองเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหลังวิกฤติโควิดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลคงต้องใช้เวลาตกผลึกในบางข้อเสนอ ขณะบางข้อเสนอก็เห็นตรงกันว่า คงสามารถดำเนินการได้ทันที  "

นายกรัฐมนตรี   กล่าวว่า  ข้อความตอนหนึ่ง ว่า รู้สึกประทับใจกับข้อเสนอ ที่ ทุกคนเตรียมข้อมูล ความคิด และข้อเสนอ แนะต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงเฉพาะธุรกิจตัวเอง   “ผมประทับใจมาก ก็คือ ทุกคนใส่ใจ โดยไม่ได้มองเฉพาะแค่ภาคธุรกิจของตัวเองเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้ว สิ่งที่ทุกคนใส่ใจก็คือ เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศไทยของเราผมกำลังพิจารณาสิ่งที่นำเสนอนะครับ และบางเรื่อง ผมจะดึงมา ขับเคลี่อนด้วยตัวของผมเอง”

คงต้องจับตา ว่า ข้อเสนอของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ ประเด็นร้อน  6 ข้อ อย่าง แอลทีวี  การขยาย วีซ่าให้ต่างชาติเข้ามาพำนักในประเทศไทยนานขึ้น  บิ๊กตู่  จะผ่อนผันให้ได้หรือไม่