Free From 2.5 หมื่นล้าน เทรนด์อาหารที่กำลังมาแรง

04 ก.ย. 2563 | 06:55 น.

Free From สินค้าอาหารกลุ่มปราศจากสารปรุงแต่งมาแรง กลุ่มคนไทยรักสุขภาพบริโภคเพิ่ม คาดมุลค่าตลาดปี 64 พุ่งถึง 2.5 หมื่นล้านบาท ชี้เป้าเอสเอ็มอีเร่งเจาะตลาด

 

สินค้าอาหารกลุ่มปราศจากสารปรุงแต่ง (Free From Food) คือ สินค้าที่ปราศจากสารปรุงแต่ง สารกันบูด นํ้าตาล นํ้ามันปาล์ม ไม่แต่งสี และมีไขมันตํ่า โดยปัจจุบันพบว่าสินค้ากลุ่ม free from ได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป เห็นได้จากการประเมินของ Euromonitor International ในปี 2560 ที่ผ่านมาตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่ม Free From ในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 22,100 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 4.0 จากปีก่อนหน้า และคาดการณ์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ผลิตภัณฑ์ กลุ่ม Free From จะมีมูลค่าราว 25,000 ล้านบาท

 

สถาบันอาหารได้แบ่งผลิตภัณฑ์กลุ่ม Free From ที่จำหน่ายอยู่ในตลาด ออกเป็น 3 ประเภทหลักคือ 1. เครื่องดื่มที่ปราศจากนมจากสัตว์(Free From Dairy) มีมูลค่าอยู่ที่ 20,514 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 96.4 (ประเมินโดยสถาบันอาหาร) 2. เครื่องดื่มที่ปราศจากสารก่อภูมิแพ้(Free From Allergens) มีมูลค่าอยู่ที่ 426  ล้านบาท ร้อยละ 2.0 3. และอาหารเด็กที่ปราศจากแลคโตส (Free From Lactose) มีมูลค่าอยู่ที่ 338 ล้านบาท ร้อยละ 1.6

 

Free From 2.5 หมื่นล้าน เทรนด์อาหารที่กำลังมาแรง

 

Free From 2.5 หมื่นล้าน เทรนด์อาหารที่กำลังมาแรง

                                       วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

นายวิศิษฐ์   ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาอาหาร “Free from” ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายมาก มีผู้บริโภคมากมายที่หันมาทานอาหาร ที่เรียกว่า “มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น” (flexitarians) โดยความต้องการของอาหารที่ไม่ปรุงแต่งสารหรือวัตถุดิบสังเคราะห์ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาเพื่อตอบสนอง เช่น อาหารมังสวิรัติที่ดีจนเรียกได้ว่ากำลังจะกลายเป็นกลุ่มอาหารหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปที่ธุรกิจเนื้อเทียมจากพืชที่ทำจากเห็ด เต้าหู้เป็นต้น มีรายได้เติบโตถึง 451% (จากปี 2557-2561) ขณะที่มีการรวบรวมผู้ทานมังสวิรัติและวีแกนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่าเพิ่มขึ้นถึง 440% ในปี 2555-259) ซึ่งนอกจากชาวต่างชาติที่มีผู้นิยมทานแบบ Flexitarian เพิ่มขึ้นแล้ว คนไทยเองก็ทานเนื้อสัตว์น้อยลงเช่นกัน จากข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า สัดส่วนของคนไทยที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2556 เป็น 12% ในปี 2560 ของประชากรไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป

 

จากกระแสความความนิยมอาหารโปรตีนพืชทดแทนเนื้อสัตว์ในประเทศไทย ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนเริ่มปรับเปลี่ยนไป โดยลดสัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคจำนวนมากมีทรรศนะว่า การหันมาบริโภคโปรตีนที่ไม่ได้ทำมาจากเนื้อสัตว์ถือเป็นทางเลือกที่เป็นผลดีกับสุขภาพ นอกจากนี้ยังปรากฏแนวโน้มความต้องการบริโภคทดแทนมื้ออาหารหลักโดยผู้บริโภคจะเลือกรับประทานโปรตีนจากพืชแทนที่อาหารมื้อหลัก เช่น อาหารทดแทนที่ทำจากถั่วเหลือง รวมถึง ผลิตภัณฑ์นมจากพืช เช่น นมจากอัลมอนด์หรือวอลนัท เป็นต้น

 

Free From 2.5 หมื่นล้าน เทรนด์อาหารที่กำลังมาแรง

 

นอกจากกระแสรักสุขภาพทีเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันนั้น ยังมีกลุ่มผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาด้านสุขภาพและมีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารที่จำกัด อาทิ กลุ่มผู้บริโภคที่แพ้กลูเตน หรือกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้แลคโตส กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องควบคุมปริมาณนํ้าตาล เป็นต้น

 

“ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดไปได้ทั่วโลก นับเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่สามารถพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่กำลังเติบโตได้ดี และขายได้ในราคาที่สูง ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้กำลังมาแรงในช่วงโควิดรวมถึงในช่วงจากนี้ไป”

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,607 วันที่ 6 - 9 กันยายน พ.ศ. 2563

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ตลาดเอเชียโตแรง

“เนื้อเทียม”ทางเลือกจากพืชตลาดสายกรีนที่กำลังมาแรง

“อาหาร-สุขภาพ” เทรนด์ใหม่ผลิตกำลังคน หลังพ้นโควิด

อานิสงส์โควิด ดันยอดอาหารสุขภาพพุ่ง