เชนค้าปลีกโหนกระแสวีอาร์ ใช้เทคโนโลยีใหม่เพิ่มกิมมิกดึงลูกค้ากลับเข้าร้าน

23 เม.ย. 2559 | 04:00 น.
เชนค้าปลีกหลายรายเล็งเห็นศักยภาพของเทคโนโลยี virtual reality ในการเป็นเครื่องมือช่วยขาย สร้างแบรนด์ และสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ซื้อ หวังดึงผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นกลับเข้าสู่ร้านค้าอีกครั้ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เชนค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่ง อาทิ อิเกีย โลว์ส ทอมส์ และนอร์ธเฟซ ได้นำเทคโนโลยีความจริงเสมือน (virtual reality หรือ วีอาร์) เข้ามาช่วยเสริมประสบการณ์การซื้อสินค้าให้กับลูกค้าภายในร้าน "ความจริงเสมือนจะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์การช็อปปิ้ง และจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าปลีกที่ล้ำหน้าคู่แข่ง" บริษัท เอเจนซี่ ซาเปียนท์ไนโทรฯ ระบุในรายงาน

โลว์ส เชนค้าปลีกสินค้าซ่อมแซมและตกแต่งบ้าน ได้นำเทคโนโลยีวีอาร์เข้ามาใช้กับกระบวนการตกแต่งซ่อมแซมพื้นที่ภายในบ้านอย่างห้องครัวหรือห้องน้ำ โดยโลว์สได้เริ่มติดตั้งพื้นที่ที่เรียกว่า โฮโลรูม (Holoroom) สำหรับแสดงภาพจำลอง 3 มิติของแผนการตกแต่งพื้นที่ภายในบ้านของลูกค้าด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวในร้านค้า 19 แห่งในสหรัฐฯ

ลูกค้าสามารถบอกขนาดห้อง และเลือกผลิตภัณฑ์ภายในร้านมาตกแต่ง จากนั้นทีมงานของโลว์สจะสร้างภาพ 3 มิติตามความต้องการของลูกค้าให้ชมผ่านทางอุปกรณ์สวมใส่ศีรษะ โอคูลัส ริฟท์ อุปกรณ์วีอาร์จากบริษัทโอคูลัสฯ ซึ่งมีเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถรับชมแบบจำลองได้บนวิดีโอ ยูทูบ 360 ซึ่งเป็นวิดีโอในรูปแบบวีอาร์ของยูทูบ ผ่านอุปกรณ์รับชม กูเกิล คาร์ดบอร์ด ซึ่งโลว์สแจกให้ฟรี

ไคล์ เนล กรรมการผู้จัดการ โลว์ส อินโนเวชั่น แล็ปส์ กล่าวว่า โฮโลรูมช่วยทำให้ผู้บริโภคก้าวข้ามอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการตกแต่งปรับปรุงห้องต่างๆ ภายในบ้านได้ นั่นคือ การจินตนาการว่าแผนการตกแต่งจะออกมาเป็นอย่างไรในชีวิตจริง "เมื่อคิดถึงวิธีการออกแบบปรับปรุงของคนทั่วไปในขณะนี้ มันขาดความเป็นรูปธรรม พวกเขาเดินไปเลือกสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วนำมาวางรวมกันบนโต๊ะ"

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีวีอาร์สามารถเข้ามาช่วยให้ผู้ซื้อมองเห็นภาพแบบองค์รวม และมองเห็นอย่างชัดเจนว่าการปรับเปลี่ยนจุดใดจุดหนึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมอย่างไร ซึ่งเนลเชื่อว่า ความสามารถเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสที่ผู้บริโภคจะเลือกโลว์สให้รับหน้าที่ปรับปรุงซ่อมแซม แม้ว่าตลาดอุปกรณ์ความจริงเสมือนยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่บริษัทที่ปรึกษา ดิจิ-แคปิตอล คาดการณ์ว่า ยอดขายต่อปีจะเติบโตขึ้นจากน้อยกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบันเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563 ขณะที่บริษัทวิจัย ไปเปอร์ แจฟฟรีย์ คาดว่าจำนวนยอดขายอุปกรณ์อาจเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านเครื่องภายในปี 2568 ในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีความจริงเสมือนเข้ามาในตลาดหลักมากขึ้นและมีผู้บริโภคซื้ออุปกรณ์เป็นของตัวเองมากขึ้น การซื้อสินค้ารูปแบบที่เรียกว่า วี-คอมเมิร์ซ อาจย้ายจากร้านค้าเข้ามาอยู่ภายในบ้าน เช่น ผู้ซื้อสามารถเดินเลือกสินค้าในร้านได้ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวโดยไม่ต้องออกจากบ้าน

ร้านค้าบางรายกำลังทดลองนำเทคโนโลยีความจริงเสมือนมาใช้งานเป็นกลยุทธ์ดึงดูดผู้บริโภคเข้าร้าน โดยไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อสินค้า อาทิเช่น ทอมส์ ร้านค้าปลีกรองเท้า นำอุปกรณ์ของซัมซุงมาติดตั้งในร้านค้ากว่า 100 แห่งทั่วโลก เพื่อแสดงวิดีโอการเดินทางไปเปรู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ one-for-one ของบริษัทที่จะบริจาครองเท้า1คู่ต่อทุกคู่ที่ขายได้ "อี-คอมเมิร์ซมีบทบาทอย่างมากในทุกวันนี้ เราต้องสร้างเหตุผลในการเข้าร้านค้าขึ้นมาใหม่" เบลค ไมคอสซี ผู้ก่อตั้งทอมส์ กล่าว นอร์ธเฟซ ผู้จำหน่ายอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมเอาต์ดอร์ เป็นอีกหนึ่งรายที่จัดทำวิดีโอระบบวีอาร์ขึ้นมาเป็น และได้ติดตั้งอุปกรณ์รับชมไว้ในร้านค้า 3 แห่งในสหรัฐฯ ทอดด์ สปาเล็ตโต ประธานนอร์ธเฟซ กล่าวว่า วีอาร์เป็นวิธีการที่ดีในการนำธรรมชาติเข้ามาภายใน "วิดีโอเหล่านี้ทำให้คนเห็นความสวยงามของสถานที่ต่างๆ เป็นวิธีการที่ไม่เหมือนใครที่เราสามารถแนะนำและชักชวนผู้คนออกนอกสถานที่"

ขณะที่อิเกีย เชนร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ เปิดตัวแอพพลิเคชันไปเมื่อเร็วๆ นี้ สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของอุปกรณ์วีอาร์ ไวฟ์ (Vive) ของเอชทีซี สามารถเข้าไปชมภายในห้องครัวเสมือนจริง ผู้ชมสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น ปิดดูในลิ้นชัก หรือเปลี่ยนสีตู้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า การนำเทคโนโลยีวีอาร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์อาจมีไม่มากนัก ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่จะใช้โอกาสจากเทคโนโลยีใหม่นี้ในการสร้างลูกเล่นเสียมากกว่า เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากอุปกรณ์ยังมีราคาแพงเกินไปสำหรับผู้บริโภค โดยไวฟ์ตั้งราคาขายไว้ที่ 799 ดอลลาร์สหรัฐฯ โอคูลัส ริฟท์มีราคา 599 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนที่มีราคาถูกลงมา คือซัมซุง เกียร์ วีอาร์ 99 ดอลลาร์สหรัฐฯ และกูเกิล คาร์ดบอร์ด มีราคา 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559