นายกฯ ต้องกล้าทะลาย ทะลวงท่อสินเชื่อ

04 ก.ย. 2563 | 09:00 น.

นายกฯ ต้องกล้าทะลาย ทะลวงท่อสินเชื่อ : คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3607 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-9 ก.ย.2563 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

นายกฯ ต้องกล้าทะลาย

ทะลวงท่อสินเชื่อ
 

     เสียงบ่นของชาวบ้านร้านตลาดว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจฝืด ตกต่ำดำดิ่งแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ธุรกิจเอสเอ็มอีล้มระเนระนาด เหมือนพายุใหญ่พัดเม็ดทรายกระจัดกระจายไปทั่ว
 

     ความหวังของธุรกิจขอเพียงเม็ดเงินสินเชื่อ ประหนึ่งหยดน้ำไปหล่อเลี้ยงความแห้งแล้ง แต่ความไร้สิ้นความหวังแม้กระทั่งสินเชื่อจากธนาคารรัฐ
 

     แม้นโยบายรัฐจะจัดสรรเงินก้อนแล้วก้อนเล่า รัฐมนตรีแต่ละคนสั่งการกำชับให้กระจายเม็ดเงินสินเชื่อลงถึงมือเอสเอ็มอีชายขอบ แต่กลับล้มเหลวสิ้นเชิงในขั้นตอนการปฏิบัติ ซ้ำเติมเข้าไปอีก เมื่อรอนโยบายจากรัฐมนตรีคลังที่จะให้เคาะเดียวเบ็ดเสร็จ รัฐมนตรีคลัง ปรีดี ดาวฉาย ที่เข้าอกเข้าใจผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยดีกลับมาลาออกไปเสียอีก ก็ต้องรอกันต่อไป สำหรับนโยบายชุดใหม่ที่จะออกมา

     เอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยวที่พังก่อนใครเพื่อน รวบรวมขอวงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท แต่กลับได้เพียงแค่ 4 พันล้าน ที่เหลือไม่ได้รับ เพราะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องเข้าไปสู่ระบบเครดิตบูโร ซึ่งต้องห้ามในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยว แต่กำลังเข้าแถวยาวเป็นหางว่าวในการเข้าสู่ระบบเครดิตบูโร นั่นหมายถึงเม็ดเงินที่ไม่สามารถปล่อยออกมาเพื่อเยียวยาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้ยืนได้เลย
 

     “เรารู้ว่ารัฐบาลจัดสรรเม็ดเงินมา ผ่านธนาคารออมสิน ผ่านธนาคารเอสเอ็มอี บสย.หรือกระทั่งผ่านแบงก์ชาติที่ใส่เงินผ่านแบงก์พาณิชย์ เป็นแสนล้าน แต่เราไม่เคยได้รับเงินกู้ที่ยื่นขอ แถมบางครั้งเรายังถูกเรียกหนี้ค้างเก่า เราจ่ายหนี้เก่าเพื่อให้ได้กู้ใหม่ แต่กู้ใหม่กลับไม่ได้ เหมือนเราถูกหลอก แถมยังถูกเรียกหลักประกันเพิ่มโน่นนี่นั่นยุบยับไปหมดเมื่อยื่นขอ ดูแผน ดูความสามารถชำระหนี้ ตอนนี้ความหวังไม่มีเหลือแล้วเพราะเราตายแล้ว” เสียงครวญจากเอสเอ็มอีชายขอบ
 

     อย่างไรก็ดี มีเม็ดเงินสินเชื่อจำนวนหนึ่งที่ถูกปล่อยผ่านธนาคารรัฐไปใส่มือผู้ประกอบการที่เรียกว่า นอนแบงก์ และพวกนี้เอาไปฟันส่วนต่างต้นทุนทางการเงินเอากับผู้ประกอบการถึง 20% ซึ่งเป็นความชอกช้ำของเอสเอ็มอี หรือห้องแถว แต่จำเป็นแม้ดอกเบี้ยจะแพงแต่ก็ต้องเอาไว้ก่อน
 

     “แบงก์บางแห่งรับเงินกู้มาต้นทุนการเงิน 2-3% ปล่อยออกไปให้พวกนอนแบงก์มาปล่อยต่อกินดอกเบี้ยเป็น 20% พวกกลุ่มจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อด่วน ไปเอาเงินถูกๆ มาปล่อยแพงลิบลิ่ว ปล่อยให้ทำกันได้อย่างไร”
 

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และประธานศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบศ.) ต้องหันมาทบทวนกฎระเบียบทะลวงท่อสินเชื่อให้ธนาคารรัฐสามารถอำนวยความสะดวกสินเชื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

     ประเภทที่ว่ากำหนดเคพีไอ หรือ ผลตอบแทนพนักงานธนาคารของรัฐ จากผลกำไรการดำเนินงานที่ยืนแข็ง ทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความแอคทีฟ ถ้าปล่อยออกไปเป็นหนี้เสีย ตัดขาดทุน กำไรลด โบนัสของเขาจะลดไปด้วย จึงตั้งการ์ดสูง เงินก็ไม่ออก
 

     ประเภทที่ว่าพิจารณาปล่อยสินเชื่อออกไปแล้ว เป็นหนี้เสียบ้างโดยสุจริต แต่กลับถูกสอบสวนทวนความเอาผิด ทั้งจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แล้วแต่กรณีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาร้องเรียน
 

     “กฎระเบียบแบบนี้ มัดมือ มัดเท้า เจ้าหน้าที่พนักงานธนาคารของรัฐ จนแน่นตึงไปหมด เขาก็ต้องเข้มงวด ไม่กล้าได้กล้าเสียในการปล่อยเงินออกมาทั้งที่กระทำโดยสุจริต เดี๋ยวโดนสอบขึ้นมา แม้เป็นความบกพร่องโดยสุจริตก็ซวย เลือกทำเคสสวยๆ ดีกว่า เม็ดเงินผ่านสถาบันการเงินของรัฐจึงค้างท่ออยู่เยอะ ปล่อยให้นอนแบงก์ไปเป็นก้อนใหญ่พวกนี้เอาไปกินเปอร์เซนต์ต่อแต่ก็ไม่เสี่ยง ได้กำไรแน่นอนสิ้นปีมามีโบนัส เมื่อประเมินกันแบบนี้ สร้างกำแพงกันแบบนี้ ก็อย่าหวังที่จะได้ชุบชีวิตเอสเอ็มอีให้ฟื้นคืน เพราะต่างคนต่างไม่กล้า ก็น่าเห็นใจพนักงานสถาบันการเงินของรัฐเช่นกัน ก็ต้องเซฟตัวเองไว้ก่อน”
 

     นายกรัฐมนตรี จึงต้องหันมาตีโจทย์ให้ชัดเจนโดยเร่งด่วน ลงไปดูปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน และคิดใหม่ ทำใหม่ ทำแบบ NEW NORMAL อย่างที่ประกาศไว้
 

     นายกฯ ต้องเข้าใจว่าปัญหาที่ดำรงคงอยู่หลังสถานการณ์โควิด-19 นั้นไม่ได้เป็นปัญหาเศรษฐกิจแบบปกติ
 

     เมื่อปัญหาไม่ปกติ ก็ต้องแก้ด้วยวิธีการไม่ปกติ หรือ วิธีพิเศษ ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการยึดกฎเกณฑ์หรือหลักเดิมๆ
 

     กล้าๆ และเร่งรีบหน่อยลุง ...ล้มหายตายจากกันหมดแล้ว