“ขันโตกดินเนอร์”ปรับใหญ่รับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่

03 ก.ย. 2563 | 04:39 น.

 

ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ต้นแบบขันโตกดินเนอร์ ปรับใหญ่รับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่จากโควิดภิวัตน์ ลดพึ่งตลาดนักท่องเที่ยว หั่นขันโตกดินเนอร์เหลือเพียงเย็นวันเสาร์ ปรับการใช้งานที่ 13 ไร่กลางเวียงหันโฟกัสตลาดท้องถิ่นเพิ่ม ทั้งเปิดร้านอาหารเหนือ รับสั่งอาหารส่งถึงที่ ให้เช่าพื้นที่จัดงานร้านขายสินค้าชุมชน
 

ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ หรือ Old Chiang Mai ผู้นำเสนอ “ขันโตกดินเนอร์” มาตั้งแต่ปี 2514 ควบคู่กับการแสดงดนตรีและการฟ้อนรำท้องถิ่นและของกลุ่มชาติพันธุ์ บนพื้นที่ 13 ไร่ กลางเวียงเชียงใหม่ แวดล้อมด้วยอาคารและการตกแต่งในบรรยากาศพื้นถิ่น เป็นที่รับแขกบ้านแขกเมือง และนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนแดนดินถิ่นล้านนา ซึ่งลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ควบคู่กับการขยายตัวของผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ที่ต้องแข่งขันอย่างรุนแรง และสะดุดอย่างแรงจากการระบาดเชื้อโควิด-19 เมื่อนักท่องเที่ยวหายวับ เร่งแผนปรับตัวของ “ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่” ที่เตรียมไว้ต้องร่นให้เร็วขึ้น เพื่อรับวิถีปกติใหม่นับจากนี้
  “ขันโตกดินเนอร์”ปรับใหญ่รับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่

นางสาวมนัสวัฑฒก์ ชุติมา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ กล่าวว่า เรามีแผนรีแบรนดิ้งตัวเรา สู่ “Old Chiang Mai” เพราะว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่าศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่เป็นสถานที่ราชการ แต่ความจริงแล้วเราเป็นเอกชน ที่เปิดมานานก่อนจะมีศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ จากชื่ออาจทำให้คนเข้าใจผิด ได้เปิดดำเนินกิจการขันโตกมาตั้งแต่ปี 2514 จนเป็นต้นฉบับขันโตกดินเนอร์ ตลอดเกือบ 50 ปีมานี้เราพึ่งพานักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ทางผู้บริหารมีแนวทางจะปรับรูปแบบธุรกิจให้ลดการพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวลง เราต้องการที่จะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เหมือนกับช่วงแรกเริ่มที่เราก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม หันมาโฟกัสกับท้องถิ่นให้มากขึ้น ได้เตรียมแผนและกิจกรรมไว้บ้างแล้ว พอมาเกิดโควิด-19 กลายเป็นเร่งปฎิกิริยาให้ต้องทำเร็วขึ้น
 

เดิมลูกค้าของขันโตกดินเนอร์เป็นนักท่องเที่ยวทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมาจากยุโรป อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น จีนก็มีบ้าง รวมถึงคนไทยเอง คิดเป็นสัดส่วนคนไทยกับต่างชาติอยู่ที่ 30 : 70 แต่แทบไม่มีลูกค้าคนท้องถิ่นเลย ขณะที่การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ก็แข่งขันรุนแรงเรื่องราคา และทำตามๆ กันไม่ค่อยได้สร้าง สรรค์ในการหาเอกลักษณ์ของตนเองที่ให้แตกต่างกันออกไป จึงคิดไว้อยู่แล้วว่าเราจะต้องเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า และต้องปรับทำให้เร็วขึ้นเมื่อเกิดโควิด-19 ประกอบด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไปต่อไม่รอแล้วนะ เชียงใหม่เปิด"Bubble City"แลกเที่ยว"หัวหิน-ชะอำ"

โรงแรมเชียงใหม่หืดจับ กลับมาเปิดใหม่ แค่30%

จังหวัดเชียงใหม่ ครองอันดับ1 ที่คนไทยอยากเที่ยวมากที่สุด

 

ปักหมุดเชียงใหม่"Food and Supply"ร้านวัตถุดิบอาหารพรีเมียมโลก


  “ขันโตกดินเนอร์”ปรับใหญ่รับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่

 

“ขันโตกดินเนอร์”ปรับใหญ่รับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่

1.ปรับลด “ขันโตกดินเนอร์” จากที่เปิดให้บริการทุกวันมาแต่เดิม และหยุดไปในช่วงโควิด-19 ระบาด กลับมาเปิดให้บริการใหม่เหลือเฉพาะเย็นวันเสาร์ เนื่องจากไม่สามารถคาดคะเนจำนวนลูกค้าได้ว่าจะมากน้อยแค่ไหน ใครสนใจก็บุ๊กกิ้งมา หรือหากเป็นคณะใหญ่หรือกลุ่มพิเศษ ต้องแจ้งจองเพื่อจัดให้ในวันที่ต้องการ
 

2.ครัวศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ เดิมทำอาหารเพื่อเสิร์ฟให้ห้องขันโตกก็ปรับมาเป็นรับสั่งทำอาหารส่งถึงที่ (เดลิเวอรี) และมีการทำตลาดออนไลน์ไปด้วย ทำให้เพิ่มกิจกรรมทางธุรกิจที่เน้นคนท้องถิ่นและคนในประเทศมากขึ้น
 

3.เพิ่มฟังก์ชั่นห้องขันโตก ซึ่งมีทั้งแบบในห้องและลานกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งจะเปิดในช่วงหน้าหนาว รับลูกค้าได้ 700 คน แต่ถ้ายังต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างก็รับได้น้อยลง ปรับเป็นเปิดให้เช่าเพื่อจัดเลี้ยงหรือการแสดงต่าง ๆ ซึ่งได้เริ่มทำมาตั้งแต่ก่อนโควิด เช่น เทศกาลดนตรี งานกาลาดินเนอร์
 

4.ห้องอาหาร “เอื้องคำสาย” ร้านอาหารเหนือสูตรครอบครัว เป็นเมนูที่หารับประทานได้ยากและรสชาติเฉพาะของครอบครัว พร้อมบริการรับสั่งส่งเดลิเวอรีด้วย กลุ่มลูกค้าจะเป็นคนท้องถิ่น หรือนักท่องเที่ยวที่ตามหาอาหารเหนือรับประทาน

 5.“กาดหายยา” เป็นหน้าร้านขนาด 100 ตารางเมตร ด้านหน้าติดถนน ที่จะสร้างการรับรู้ในการรีแบรนดิ้งจากความจดจำเดิมๆ ของลูกค้า โดยกาดหายยาจะเป็น “แฟล็กชิป สโตร์” ที่จะทำขึ้นใหม่ เป็นการต่อยอดจากเดิมที่เราเหมือนเป็นที่รับของเฉยๆ จากชาวบ้านชุมชนที่มาวางขายผัก เห็ด เนื้อสัตว์ เนื้อวัว ก็จะทำให้เป็นแบบแผนยิ่งขึ้น

โดยได้ไปติดต่อสหกรณ์โคขุนดอกคำใต้ หรือกลุ่มประมงเรือเล็กที่เพชรบุรี มาวางจำหน่าย เป็นไปตามแนวคิดคือ ต้องการสนับสนุนเรื่องวิถีชุมชน การรักษาสิ่งแวดล้อม สินค้าคุณภาพ ปลอดภัย และราคายุติธรรม
 

ทั้งนี้ สามารถสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ พร้อมบริการการจัดส่ง ซึ่งได้ประสานกับสตาร์ตอัพ “บีซี่แรบบิท” เพื่อมาจัดการด้านการขนส่งในเชียงใหม่ โดยให้รถรับจ้างในเชียงใหม่ที่เวลานี้ไม่มีนักท่องเที่ยวไม่มีงานทำ เป็นผู้จัดส่งให้มีรายได้
  “ขันโตกดินเนอร์”ปรับใหญ่รับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่

“ขันโตกดินเนอร์”ปรับใหญ่รับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่

6.เปิดให้เช่าพื้นที่ทำกิจกรรม นางสาวมนัสวัฑฒก์ กล่าวอีกว่า Old Chiang Mai ให้เช่าพื้นที่ในการจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ อาทิ งานแต่งงาน จัดประชุมสัมมนา จัดเลี้ยง คอนเสิร์ต งานออกร้าน นิทรรศการตลาด ฯลฯ โดยมีพื้นที่ให้เลือกได้หลากหลาย จากขนาดพื้นที่ทั้งหมด 13 ไร่ พร้อมเรือนโบราณ สามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ตามความต้องการ
 

นอกจากนี้ยังมีห้องจัดนิทรรศการและงานศิลปะให้ศิลปินได้มาจัดแสดงผลงานแลกเปลี่ยนกัน หรือการจัดเวิร์คช็อป
 

บริการต่าง ๆ เริ่มทยอยเปิดให้บริการ ลูกค้าบางส่วนอาจยังไม่รู้แต่ก็เริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามรายได้ Old Chiang Mai ที่เข้ามา ยังคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายจ่าย ซึ่งเป็นภาวะปกติในช่วงนี้ของทุกธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการที่พึ่งการท่องเที่ยว เราจึงต้องปรับกลยุทธ์การตลาด โดยที่เน้นในเรื่องของวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างธุรกิจเชื่อมโยงกัน ต้องจับมือกันจึงจะอยู่รอด

“ขันโตกดินเนอร์”ปรับใหญ่รับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่

ที่มา โอลด์เชียงใหม่