​คนไทยซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น สะดวก-ราคาถูก-ได้ส่วนลด

02 ก.ย. 2563 | 09:16 น.

สนค. ชี้ผลสำรวจพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทย พบ 70.6% มีการใช้จ่ายออนไลน์ ซื้อจาก Lazada , Shopee มากที่สุด ตามด้วยช่องทางออนไลน์ของห้าง เหตุสะดวก ราคาถูก ได้ส่วนลด เตรียมหนุนเกษตร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์สื่อออนไลน์ค้าขายให้มากขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เดือนส.ค.2563 ที่ผ่านมา สนค. ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าและบริการทางช่องทางออนไลน์ โดยสำรวจผู้บริโภคทั้งประเทศครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ 884 อำเภอ/เขต รวมทั้งสิ้น 8,163 คน พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 70.6 มีการใช้จ่ายออนไลน์ และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.7 ใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ช่องทางที่นิยมซื้อมากที่สุดได้แก่ Lazada , Shopee ร้อยละ 44.7 รองลงมาเป็นห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ได้แก่ โลตัส บิ๊กซี วัตสัน โรบินสัน ร้อยละ 26.6 เฟซบุ๊ก ร้อยละ 17.7 และช่องทางอื่น เช่น Lineman , Grabfood , Foodpanda , Instagram และ Weloveshoping ร้อยละ 11.0

​คนไทยซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น  สะดวก-ราคาถูก-ได้ส่วนลด

         สำหรับสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อทางออนไลน์ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 24.1 อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 20.8 สินค้าสุขภาพความงามและของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 19.1 ของใช้ภายในบ้าน ร้อยละ 17.3 และอื่นๆ ร้อยละ 18.6โดยเหตุผลสำคัญที่สุดของการซื้อออนไลน์ ได้แก่ ความสะดวก ร้อยละ 34.0 ตามด้วยราคาถูก ร้อยละ 21.3 มีให้เลือกหลากหลาย ร้อยละ 20.1 สามารถเปรียบเทียบราคาได้ง่าย ร้อยละ 12.1 มีส่วนลด ร้อยละ 9.4 และน่าเชื่อถือ  ร้อยละ 3.1
 

“จากผลการสำรวจสะท้อนว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับความสะดวกในการใช้จ่ายมาก ในขณะที่ราคาและความหลากหลาย ก็ยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการค้าออนไลน์ ดังนั้น ทิศทางและรูปแบบการค้าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ ต้องมุ่งให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภคเป็นสำคัญ และเชื่อว่ามูลค่าการค้าออนไลน์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ในปัจจุบันอาจจะยังมีสัดส่วนไม่มาก ประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าออฟไลน์ แต่ก็เป็นโอกาสเพิ่มมูลค่าการค้าให้ทั้งแก่ผู้ซื้อและผู้ขายและภาพรวมของระบบการค้าได้”น.ส.พิมพ์ชนกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งเกษตรกรที่ใช้สื่อออนไลน์เป็น มีการค้าขายหรือนำเสนอสินค้าผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ มากขึ้น เพราะจะเป็นช่องทางการทำการตลาดและการขายได้เพิ่มจากที่มีหน้าร้านหรือไม่มีก็ได้ แต่ก็พบว่ามีอุปสรรคบางส่วน คือ ค่าขนส่งโลจิสติกส์ในประเทศยังค่อนข้างสูงอยู่เมื่อเทียบกับราคาสินค้า และการเข้าถึงแพลตฟอร์มยังอาจทำได้ไม่สะดวกสำหรับบางผู้ประกอบการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะหาแนวทางลดอุปสรรคหรือสนับสนุนเพิ่มขึ้นต่อไป