ไทยกับการปรับตัว รับโลกหลังโควิด-19

02 ก.ย. 2563 | 09:00 น.

ไทยกับการปรับตัว รับโลกหลังโควิด-19 : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3606 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.63 โดย...กาแฟขม

 

ไทยกับการปรับตัว

รับโลกหลังโควิด-19
 

     *** ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3606 ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. 2563 กาแฟขมประจำการที่เดิม เขย่าขวดเขย่าข่าวเข้าสู่โลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังโควิด-19 ไวรัสมฤตยูไล่ล่าล้างผลาญมีผู้ติดเชื้อทั้งโลกทะลุ 25 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตเฉียด 1 ล้านรายเข้าไปทุกขณะ หลายพื้นที่เกิดการระบาดระลอก 2 ไวรัสพัฒนาสายพันธุ์ตัวเองแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม
 

     *** วัคซีนยังไม่มา ยังผวากันไม่สิ้นสุด คาดการณ์กันว่าวัคซีนน่าจะมาปลายเดือนต.ค.ถึงต้นเดือนพ.ย.นี้ โดยอาจมีการข้ามขั้นตอนในการพัฒนาวัคซีน อาจเป็นการเดิมพัน เพื่อแลกการกลับเข้าสู่ประธานาธิบดีสมัย 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องยอมรับความบ้า ดี เดือดของประธานาธิดบีผู้นี้ ที่ทำให้โลกใบนี้หวาดผวาในแนวทางของเขาทุกครั้งที่ออกมาจ้อผ่านโซเชียลมีเดีย
 

     *** ออกสตาร์ทกันไปแล้วในการรับรองให้ โจ ไบเดน เป็นตัวแทนเดโมแครตลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีกับทรัมป์ เรตติ้งของไบเดนมาแรงตั้งแต่ออกสตาร์ท ทิ้งห่างทรัมป์หลายช่วงตัว เอาง่ายๆ คนดูทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์เปิดตัวชิงตำแหน่งเที่ยวนี้แค่ 19.9 ล้านคน จาก 34 ล้านคนในคราว 4 ปีก่อน และผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทภาครัฐและเอกชนทั่วโลกจากสมาชิกของ CNBC Global CFO Council โดยสำนักข่าวซีเอ็นบีซี พบ 75% พูดตรงกันว่าไบเดนจะเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งปธน.สหรัฐ ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ทรัมป์คงต้องเร่งมือทำคะแนนกันหน่อย หากต้องการไปต่อสมัย 2  ซึ่งการเร่งมือของทรัมป์นี่แหล่ะจะน่ากลัวยิ่งนักว่าเราจะได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่รู้วันดีคืนดีจะประกาศห้ามนำเข้าสินค้านั้นสินค้านี้เพื่อปกป้องฐานเสียงภายใน นับเป็นความเสี่ยงที่คาดการณ์ยากจริงๆ   

     *** โลกหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม การค้าไทยหลังโควิดก็จะไม่เหมือนเดิม วันก่อนสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ตั้งวงสนทนา ดร.สมปวีณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ชี้เปรี้ยงแนวโน้มการค้าโลกจะมาจากคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แต่ก็ยังต้องการของดีราคาไม่แพง การเป็นสังคมสูงวัยของทั้งไทยและโลก จะปรับเปลี่ยนแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการในตลาด ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม โรคระบาด และเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แวลู เชนห่วงโซ่คุณค่าโลกจะสั้นลง มีความหลากหลาย และเลือกพื้นที่การผลิตภายในภูมิภาคตนเอง มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลก ภาคบริการจะมีบทบาทและเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องนำการบริการเชื่อมต่อกับภาคการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเข้าถึงตลาดในอนาคต
 

     *** ฝ่าย ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการค้าโลก อาทิ การกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป หันมาสนใจในภูมิภาคตนเองมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือแพลตฟอร์มการค้าในรูปแบบต่างๆ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ประการสำคัญ คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลต่อการค้าอย่างมาก ไทยควรปรับโครงสร้างการผลิตและการค้าให้กระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น พัฒนาทักษะให้แรงงานในภาคบริการที่ไม่สามารถกลับสู่อาชีพเดิมให้มีความสามารถหลากหลายในการหาเลี้ยงชีพ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ยังต้องการแรงงานภาคบริการที่มีทักษะจากไทยและต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงระบบของโลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
 

     *** ถอยสุดซอย หรือ ตีกรรเชียงหนีไม่ให้พารัฐบาลล่มไปด้วย กองทัพเรือยอมแล้วในการชะลอซื้อ “เรือดำน้ำ” ออกไปก่อน ร่อนหนังสือแถลงแม้จำเป็นต้องมี แต่ก็รับฟังและเข้าใจผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่ประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดูแลเศรษฐกิจเช่นกัน ถือเป็นการปลดล็อกช่วยรัฐบาลให้หายใจหายคอคล่องขึ้นนิดนึง หลังจากมีการผูกโยงเรื่องเรือดำน้ำเอาเข้ากับเรื่องการเมืองในภาพใหญ่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลเข็นเข้าสภาฯ ตั้งส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ฝ่ายคัดค้านไล่บี้ ไล่จี้รัฐบาล คงต้องหาประเด็นใหม่ไปสู่การชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย. แก้รัฐธรรมนูญ ก็ทำแล้ว ชะลอซื้อเรือดำน้ำก็แล้ว ข้อเรียกร้องที่มากกว่านี้ก็จะขาดความชอบธรรมลง