ปชป.นำผู้ประกอบการรุ่นใหม่พบชาวสวนมังคุดเมืองคอน

02 ก.ย. 2563 | 07:26 น.

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย นำผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่ เจอชาวสวนมังคุด นครศรีธรรมราช ผสานความร่วมมือ สานต่อนโยบาย รมว.พาณิชย์ หลังไปรษณีย์ไทย MOU กับชาวสวน

 

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ที่ทำงานเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ และ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และคณะที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสานต่อนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กำลังประสบปัญหาผลผลิตออกมามากและส่งผลกระทบถึงราคารับซื้อที่หน้าสวน 

 

นายปริญญ์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่ตนเองและทีมเศรษฐกิจทันสมัยจะลงพื้นที่ ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) นำร่องระหว่างกลุ่มเกษตรกรใน 3 อําเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ ลานสกา ร่อนพิบูลย์ พรหมคีรี กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะได้รับการสนับสนุนค่าขนส่งฟรี จากไปรษณีย์ไทย เมื่อใช้กล่องของกรมการค้าภายใน โดยการสนับสนุนจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในการบริหารจัดการด้านการตลาดเพื่อรองรับผลไม้และช่วยเหลือชาวสวนมังคุด ของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก

 

โดยในเบื้องต้นได้ลงนามความร่วมมือกับเกษตรกรแปลงใหญ่ ที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการรวมถึงการจัดส่ง ยกตัวอย่างเช่น แปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาคุณภาพไม้ผลร่อนพิบูลย์ กลุ่มชาวสวนมังคุดลานสกา กลุ่มแปลงใหญ่ตำบลทอนหงส์ อ.พรหมคีรี สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี เป็นต้น ภายใต้การประสานจาก นายชัยชนะ เดชเดโช และนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

                                          ปชป.นำผู้ประกอบการรุ่นใหม่พบชาวสวนมังคุดเมืองคอน

 

นายปริญญ์ ระบุว่า ปีที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจทันสมัยได้มีการนำอีคอมเมิร์ซ มาเป็นเครื่องมือในการทำแคมเปญประชาสัมพันธ์ผลไม้มังคุด ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการจัดส่งผ่านเว็บไซต์ “ไทยแลนด์โพสต์มาร์ต ดอท คอม” ที่ได้รับกระแสตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีและมียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก

 

ทำให้ในปีนี้เกษตรกรชาวสวนบางรายสามารถใช้ข้อมูลการสั่งซื้อเดิมที่ระบบของไปรษณีย์ไทยเก็บไว้แบบ Bigdata และส่งต่อให้กับชาวสวนนำมาบริหารจัดการ ทำให้มีข้อมูลลูกค้าว่าอยู่ที่ไหน สั่งซื้ออย่างไร สามารถติดต่อซื้อขายได้โดยตรง ช่วยวางแผนการผลิตและการจำหน่ายล่วงหน้าช่วยลดปัญหาผลผลิตออกมาล้นตลาด โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว

 

การลงพื้นที่ของทีมฯ ยังได้มีโอกาสนำตัวแทนผู้ประกอบการมังคุด ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปร่วมพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนมังคุด คือกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุด ม.6 ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เห็นถึงปัญหาร่วมกัน รวมถึงไปดูการทำงานของล้ง KAF ร่วมกับนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และพาณิชย์จังหวัด ทำให้เห็นแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบทั้งซัพพลายเชน เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ชาวสวนรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการรับซื้อผลผลิตจากชาวสวนโดยการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการสั่งซื้อสินค้าสำหรับผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่ที่เป็นพ่อค้าคนกลาง เพื่อช่วยประหยัดค่าขนส่ง ลดต้นทุน จะทำให้ราคารับซื้อสูงขึ้นได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5-10 บาท รวมถึงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตที่จะช่วยให้ราคาจำหน่ายสูงขึ้น ลดอำนาจต่อรองของพ่อค้าคนกลาง ทำให้แข่งขันได้และสามารถขยายตลาดออกไปได้กว้างขึ้นในต่างประเทศ

                                                   ปชป.นำผู้ประกอบการรุ่นใหม่พบชาวสวนมังคุดเมืองคอน

 

นายปริญญ์ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมสถานการณ์ราคามังคุดปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว จากการวางแผนในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ในช่วงที่ผลผลิตออกมามากการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคประเทศก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทีมฯ จะช่วยในการหาช่องทางระบายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ด้านออนไลน์จะร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย ในการเข้ามาช่วยรับออเดอร์การสั่งซื้อ รวมทั้งจัดส่งผ่านเว็บไซต์ “ไทยแลนด์โพสต์มาร์ต ดอท คอม” โดยสินค้าพร้อมจัดส่งถึงมือผู้บริโภคด้วยด้วยมาตรฐานบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศโดยไม่เสียค่าจัดส่งเพื่อเร่งระบายผลผลิตและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตล้นตลาด รวมถึงจะมีภาคีเครือข่ายอื่นเข้ามาร่วมด้วย

 

“การสร้างดีมานด์ให้กับผู้บริโภคเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังอยากเห็นเกษตรกรชาวสวนมังคุดให้ความสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยการพัฒนาคุณภาพ หรือการแปรรูป ยกตัวอย่างเช่นเปลือกมังคุด ที่สามารถเอามาทำเครื่องสำอางและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้อีกมาก…ทั้งนี้การแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนของทีมเศรษฐกิจทันสมัย หัวใจที่สำคัญคือการนำความทันสมัยมาปรับใช้เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากเดิม และต้องนำไปสู่ความยั่งยืน พึ่งพิงตนเองได้" นายปริญญ์ ระบุ