ดึง 66 ภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพครูและเด็กนอกระบบทั่วประเทศ

01 ก.ย. 2563 | 11:00 น.

กสศ.ดึง 66 ภาคีเครือข่าย พัฒนาคุณภาพครูและเด็กนอกระบบกว่า 35,140 ราย ทั่วประเทศ ให้เข้าถึงโอกาสการพัฒนา การศึกษา และฝึกพัฒนาทักษะอาชีพ เริ่มต้นที่ชุมชนโรงหมูคลองเตย แก้ปัญหาที่ฐานราก 

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย โครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานครบนฐานภาคประชาสังคม ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายภาคประชาสังคมที่สนับสนุนเด็กนอกระบบฯในกรุงเทพมหานคร ภายในงานยังมีกิจกรรมสันทนาการของกลุ่มเครือข่ายคลองเตยดีจัง คาราวานปันกันเล่น เล่นอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยมีเด็กในพื้นที่ชุมชนเข้าร่วมกว่า 80 คน   ดึง 66 ภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพครูและเด็กนอกระบบทั่วประเทศ
  
นางสาวนิสา แก้วแกมทอง รักษาการ ผอ.สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. กล่าวว่า คาดการณ์ว่าปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 330,000 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)

 

ทั้งนี้ กสศ.พร้อมที่จะค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพื่อช่วยเหลือให้ได้รับการศึกษาและเกิดทักษะอาชีพ จึงสนับสนุน โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ปีการศึกษา 2563 ให้แก่ 66 องค์กรภาคีเครือข่าย ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบที่ฐานะยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา อายุตั้งแต่ 2–25 ปี โดย กสศ.สนับสนุนเงินช่วยเหลือคนละ 3 พันบาท เพื่อนำไปจัดการศึกษาเรียนรู้ หรือพัฒนาทักษะอาชีพ ตามความต้องการและศักยภาพของเด็ก โดยมีองค์กรหรือภาคีเครือข่ายเป็น “ครูพี่เลี้ยง” 

นางสาวนิสา แก้วแกมทอง รักษาการ ผอ.สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ.

นางสาวนิสา กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา จะดำเนินงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาร่วมกับเครือข่ายเชิงพื้นที่ 6 ภาค อาทิ เหนือ,กลาง, อีสาน, ใต้,ตะวันออก และตะวันตก พร้อมพัฒนาศักยภาพ “ครูพี่เลี้ยง” ให้เข้ามาเป็นฟันเฟืองในการทำงาน ประสานส่งต่อเด็กนอกระบบให้กับ กสศ. เพื่อจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน แบ่งประเภทและจัดทำรูปแบบการศึกษา ตามความเหมาะสม และกสศ.จะติดตามและประเมินผลต่อไป คาดว่าจะมีครูหรือผู้ดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาได้รับประโยชน์จำนวน 3,781 คน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 35,140 คน  

“ชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย ถือเป็นเป้าหมายแรกที่จัดกิจกรรม ซึ่งครอบคลุมเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 180 คน อายุ 4- 20 ปี ขณะเดียวกันยังครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครูหรือผู้ดูแลเด็กจำนวน 12 คน และกิจกรรมในวันนี้ เป็นเหมือนเวทีพูดคุยเพื่อทำความรู้จักภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน ได้มาสะท้อนแนวคิด แลกเปลี่ยนสถานการณ์ สภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ มาแชร์ไอเดียการจัดการเรียนรู้ โดยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญ ที่เข้ามาทำโครงการเชิงรุกดูแลเด็กนอกระบบในพื้นที่กรุงเทพฯ และพัฒนาภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ดำเนินการ อาทิ ชุมชนบ้านมั่นคง ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ชุมชนแฟลต 23 ชุมชนแฟลต 24 ชุมชนแฟลต 25 ทั้งหมดจะช่วยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯให้เข้าถึงการศึกษาทั้งแบบในห้องเรียนและนอกห้องเรียนได้” นางสาวนิสา กล่าว

ดึง 66 ภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพครูและเด็กนอกระบบทั่วประเทศ

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนดูแลเด็กนอกระบบการศึกษา และเด็กบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร และศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงออกนอกระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่อง ภาคประชาสังคมเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ ความคาดหวังจากการเปิดเวทีพูดคุยกับภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงานให้ยั่งยืน มีการขยายการดำเนินงานในพื้นที่อื่นต่อไป คาดว่าในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะมีเด็กอยู่ในความดูแลของภาคประชาสังคมทั่วกรุงเทพฯถึง 1,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่เสี่ยงออกนอกระบบการศึกษาและอยู่นอกระบบการศึกษาทั้งหมด 

 

“คลองเตยดีจัง เป็นหน่วยงานที่ทำงานกับเด็กนอกระบบการศึกษาและกลุ่มเด็กเปราะบางมาเป็นเวลานาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน เครือข่าย และชุมชม ต้องสร้างภาพลักษณ์ของเด็กกลุ่มเปราะบางและเด็กนอกระบบการศึกษาให้เป็นวาระสาธารณะ รวมถึงการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดการทำงานในระดับนโยบายต่อไป”นายอนรรฆ กล่าว

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาฯ

นายอนรรฆ กล่าวว่า สำหรับการเปิดเวทีพูดคุยกับเครือข่าย เราได้ทบทวนสถานการณ์ของเด็ก ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำงาน นวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เด็กกลุ่มเปราะบางเสี่ยงหลุดออกนอกระบบเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราต้องช่วยกันแก้ที่ฐานราก สร้างหลักประกันทางการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มเสี่ยง ส่วนเด็กในพื้นที่คลองเตย มีภาคประชาสังคมดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆขึ้นกับเด็ก สามารถประสานส่งต่อความช่วยเหลือจากหน่วยงานในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ กสศ.ที่เข้ามาสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมองค์ความรู้ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถยกระดับเชิงนโยบายได้

นางสาวศิริพร พรหมวงศ์ ครูอาสาคลองเตยดีจัง กล่าวว่า คนภายนอกอาจมองภาพลักษณ์ของชุมชนคลองเตย เป็นชุมชนแออัด แต่ส่วนตัวกลับมองว่าชุมชนนี้อบอุ่น เพราะชาวบ้านทุกครัวเรือนรู้จักกันหมด เงื่อนไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กคลองเคย อาจมีมากกว่าเด็กในชุมชนทั่วไป อาทิ ปัญหายาเสพติด ปัญหาหลุดออกนอกระบบการศึกษา เป็นต้น เนื่องจากเด็กอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นแรงดึงดูดให้เข้าสู่โลกสีเทาได้ง่าย ทางภาคีจึงพยายามหาพื้นที่สีขาว เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กทุกคนสามารถเข้ามารวมกลุ่มทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้น “คลองเตยดีจัง”จึงเป็นพื้นที่ที่ดึงเรื่องราวดีๆในชุมชนออกสู่สายตาคนภายนอก เราได้เปลี่ยนพื้นที่โรงฆ่าสัตว์เก่าที่เคยเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ติดยาเสพติด ให้เป็นโรงเล่น และเซฟเฮ้าส์ ปลูกฝังให้เด็กเล็กจนถึงวัยรุ่นมีความยับยั้งชั่งใจไม่เดินเข้าสู่โลกสีเทา ทำให้เขาเห็นว่าสามารถเลือกเส้นทางอื่นได้ แม้การเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กต้องอาศัยเวลา แต่เราเชื่อว่าทำได้ กว่า 8 ปี ที่ได้ทำงานกับเด็กได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย เด็กหลายคนเปลี่ยนแปลงตนเองมาทำงานด้านจิตอาสา มีวินัยในการทำงาน มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น  
ดึง 66 ภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพครูและเด็กนอกระบบทั่วประเทศ
“ปัญหาของเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา ส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ เพราะสถานประกอบการหลายแหล่ง รับวุฒิการศึกษา ม.3 ขึ้นไป ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเด็กกลุ่มเปราะบาง เราจึงมีแนวคิดสร้างศูนย์การเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. เพื่อรองรับเด็กที่หลุดออกนอกระบบให้กลับเข้ามาเรียนในศูนย์การเรียน ซึ่งมีรูปแบบการสอนคล้าย กศน. มีนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 180 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ กสศ. ที่ให้งบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อมาลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์โดยตรง การลงทุนครั้งนี้อาจเห็นผลช้า แต่ในระยาวเห็นผลอย่างแน่นอน” นางสาวศิริพร กล่าว
  
ขณะที่ นางประไพ สานุสันต์  ประธานสภาองค์กรชุมชน เขตคลองเตย กล่าวว่า ปัญหาหลักของคนที่อยู่ภายในชุมชนคลองเตย คือ เรื่องปากท้อง และที่พักอาศัยไม่มีความมั่นคง เกิดการโยกย้ายบ่อย บางครอบครัวต้องย้ายไปอยู่แฟลตที่คับแคบ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเด็กในพื้นที่โดยตรง ทั้งเรื่องการหลุดออกนอกระบบการศึกษา และปัญหาภายในครอบครัว ส่วนปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอกเด็กในชุมชนต้องถูกตีตราว่าเป็นเด็กสลัม สร้างแต่ปัญหา เมื่อออกไปสู่โลกภายนอกหรือไปสมัครงานต้องถูกแบ่งแยก ไม่ได้รับการยอมรับของสังคม ผู้ใหญ่หลายคนยังมองว่าเมื่อเด็กอยู่พ้นสายตาจะแอบไปซ่องสุมกันเพื่อทำสิ่งไม่ดี ดังนั้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้สังคมเห็นด้านสว่าง เด็กกลุ่มนี้จึงอยากมีพื้นที่ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ สร้างมุมมองให้คนภายนอกเห็นว่า แม้เขาจะอยู่ในชุมชนแออัดก็สามารถเป็นคนดีของสังคมได้ ขอเพียงสังคมให้โอกาสและหนุนเสริมให้เด็กกลุ่มนี้ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม