กูรู ชี้ทิศเศรษฐกิจโค้งท้าย  จับสัญญาณบวกฟื้นธุรกิจ

01 ก.ย. 2563 | 06:52 น.

จับตาสัญญาณบวกฟื้นธุรกิจไตรมาส 4 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ซบยาว 18 เดือนแน่ กลุ่มเฮลต์แคร์ปรับกลยุทธ์บาลานซ์รายได้

การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ภาคการลงทุนสูญเม็ดเงินไปแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท จวบจนกรกฏาคมที่ผ่านมา หลังรัฐคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเฟส 6 เพื่อให้อุตสาหกรรมต่างๆในประเทศได้เดินเครื่องธุรกิจต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการอีกหลายประเภทต่างยังเฝ้าติดตามปัจจัยบวก ด้วยหวังต้องการฟื้นคืนธุรกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดในไตรมาส 4 ของปีนี้

 

++ ท่องเที่ยว-ศก. ยังไม่ฟื้น

นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ มองว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) จะได้รับผลกระทบในส่วนของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการด้านสาธารณสุขควบคู่กับการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาปกติในช่วง 18 เดือนนับจากนี้ ดังนั้นแต่ละกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลจำเป็นจะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อดึงลูกค้า ควบคู่กับการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน

 

“ตั้งแต่วันนี้จนถึงธันวาคมปีหน้า หรืออีก 18 เดือนต่อจากนี้มองว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว ภาคการบิน จะยังไม่เข้าที่เรียบร้อย เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ยังไม่จบ เพราะฉะนั้นทางกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลจะต้องปรับกลยุทธ์โดยเน้นมายังกลุ่มลูกค้าในประเทศ แต่ละเครือจะต้องมีการดูแลลูกค้าทำเรื่องมาณร์เก็ตติ้งให้ดี เพื่อสร้างคุณค่าให้ลูกค้า ให้เกิดการดูแลตัวเอง”

กูรู ชี้ทิศเศรษฐกิจโค้งท้าย  จับสัญญาณบวกฟื้นธุรกิจ

อย่างไรก็ตามโควิด-19 ส่งผลกระทบมายังผู้บริโภคให้มีกำลังซื้อน้อยลง ฉะนั้นการดำเนินแผนการตลาดจำเป็นต้องมีการลดขนาด ลดไซซ์ ทำหรือราคาลง เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและประชาชนสามารถจับจ่ายได้ในช่วงสภาวะดังกล่าวด้วย โดยในส่วนของโรงพยาบาลสมิติเวชเองได้มีการปรับแพ็กเกจการตรวจสุขภาพ หรือโปรแกรมค้นหาโรคที่มีราคาถูกลง แพ็กเกจเล็กลง หรือโปรแกรมมินิเช็คอัพ ราคา 2 หมื่นบาท จากเดิมที่แพ็กเกจเต็มอาจจะราคา 5 หมื่นบาท เพื่อให้ลูกค้าในประเทศสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดัน “ช้อปช่วยชาติ” ปลุกกำลังซื้อ

ขาดทุนครึ่งปีแรก 1.6 พันล. ซีอาร์ซี หวังฟื้นยอดโค้งท้าย

จับตา 5 ธุรกิจมาแรง  เร่งปรับแผนดึงกำลังซื้อฟื้น 

++ เฝ้าระวังโควิดระลอก 2

ขณะที่นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่า ยอดขายในไตรมาสที่ 4 จะกลับมาใกล้เคียงกับปีก่อน จนสามารถปรับยอดขายเป็นบวกได้ในไตรมาสนี้ เพราะการคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้ขณะนี้ทั้งซาบีน่าช้อปและเคาน์เตอร์ซาบีน่า สามารถกลับมาเปิดขายได้ตามปกติ 100% ทุกพื้นที่ ขณะที่การส่งออกก็ดีขึ้นเป็นลำดับหลังจากที่คำสั่งซื้อหยุดไปตั้งแต่กลางไตรมาสที่ 2 โดยปัจจุบันซาบีน่ามีคำสั่งซื้อจากอังกฤษและสหภาพยุโรปที่ขาดสินค้ามานาน ตอนนี้เริ่มมีความต้องการสินค้ามากขึ้น ซึ่งเรามีออร์เดอร์ผลิตมาเติมเต็มตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคมแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม มุมมองด้านบวกที่เรามีต่อทิศทางการเติบโตในไตรมาสที่ 4 นี้ไม่ได้รวมถึงความเป็นไปได้ในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 2 และมุมมองดังกล่าวอาจจะเป็นบวกมากขึ้นหากมีข่าวดีเรื่องของวัคซีนที่กำลังค้นคว้ากันอยู่ในขณะนี้ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ ยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 และ 3 รวมถึงกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือการกลายพันธุ์ของไวรัส ตลอดจนความล่าช้าของการค้นพบวัคซีนที่สามารถป้องกันได้จริง เพราะถ้าหากมีการล็อกดาวน์อีกครั้ง จะถือเป็นปัจจัยลบที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

กูรู ชี้ทิศเศรษฐกิจโค้งท้าย  จับสัญญาณบวกฟื้นธุรกิจ

“เราคาดหวังกับมาตรการของรัฐบาลที่เตรียมจะกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งจะเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนอยากจะจับจ่ายใช้สอย และคาดหวังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะดีขึ้น มีความคืบหน้าเรื่องการผลิตวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชน และทำให้การบริโภคกลับมาอยู่ในภาวะที่ใกล้เคียงกับปกติให้ได้เร็วที่สุด”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้ทั้งหมด แต่ซาบีน่าก็เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เหมือนที่เคยทำมา โดยเฉพาะการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จและลดผลกระทบจากการถูกปิดร้านค้าในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ รวมถึงการผลิตหน้ากากผ้า ที่ทำให้พนักงานมีงานทำอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้บางส่วนเข้ามาทดแทนการผลิตชุดชั้นใน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ จนทำให้ซาบีน่ายังคงมีกำไรสุทธิในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด

 

++ สื่อคึกคัก บิลลิ่งสค.สะพัด

ด้านนายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI กล่าวว่า เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในช่วงปลายไตรมาส3ต่อเนื่องไตรมาส4 ของปีนี้ โดยสังเกตได้จากเม็ดเงินกลับมาเริ่มคึกคักในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการ แบรนด์ต่างๆเริ่มเห็นสัญญาณบวกและเชื่อมั่นในสถานการณ์การระบาดของโควิด-9 มากขึ้นมาก จึงเริ่มที่จะมีกิจกรรมสื่อสารการตลาดเพื่อผลักดันยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยสัญญาณการฟื้นตัวเห็นได้ชัดในแค่บางกลุ่มสินค้าเช่น กลุ่มรถยนต์, Mobile Phone, Mobile Operator, FMCGs เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาให้เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ในช่วงโค้งท้ายของปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 1.สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในไทย 2.การป้องกันการระบาดในประเทศรอบ2 หลังมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆมากขึ้น (เฟส 6) รวมถึงการพิจารณาเปิดประเทศ 3.และล่าสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมือง เหล่านี้ล้วนส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาและเศรษฐกิจโดยรวม

 

“เราเริ่มเห็นสัญญาณผ่อนคลายของสถานการณ์โควิด-19ในประเทศ การอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลของภาครัฐเข้ามาในระบบ โอกาสและความเชื่อมั่นในสายตาของต่างชาติต่อประเทศไทยจากการรับมือ Covid-19 เหล่านี้ทำให้เรามีความหวังว่าจะส่งผลต่อการเริ่มฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ดังนั้นสื่อในรูปแบบ Media Mix ที่มีบทบาทสำคัญจากนี้ไปจนถึงปีหน้ายังคงเป็นสื่อทีวี สื่อออนไลน์ และสื่อ Out of Home โดยสัดส่วนของสื่อออนไลน์ และสื่อ Out of Home จะโตขึ้น แต่สื่อดั้งเดิมอย่าง สื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์จะยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่อง”

กูรู ชี้ทิศเศรษฐกิจโค้งท้าย  จับสัญญาณบวกฟื้นธุรกิจ

++การเมืองยังไม่แน่นอน

นายธนา ลิมปยารยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ อมาโด้ (amado) กล่าวว่า ภาพรวมไตรมาส 4 คาดว่ากำลังซื้อจะเติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อนๆที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลงไปมาก ผู้บริโภคเริ่มมีความผ่อนคลายในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้ามากขึ้น รวมถึงธุรกิจต่างๆ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นด้วย

กูรู ชี้ทิศเศรษฐกิจโค้งท้าย  จับสัญญาณบวกฟื้นธุรกิจ

ขณะที่ปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวังคือ สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิดยังไม่สามารถผลิตได้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในเศรษฐกิจและความอ่อนไหว (sensitive) ในการใช้จ่ายของผู้บริโภคหากมีข่าวหรือสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงเกิดขึ้นมาระหว่างนั้น จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคค่อนข้างเร็ว และทำให้กำลังซื้อหยุดชะงัก หรือ ชะลอลง

 

อย่างไรก็ตามในช่วงโควิดที่ผ่านมาต้นทุนทางการตลาดในส่วนของ offline มีแนวโน้มถูกลงจากสาเหตุการหยุดชะงักของธุรกิจในส่วนของการโฆษณา จุดนี้จะกลับมาเป็นปัจจัยบวกให้กับอุตสาหกรรมในการทำสื่อโฆษณากระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงปลายปี รวมถึงการจัดโปรโมชันควบคู่เพื่อสร้างบรรยากาศ และกระตุ้นกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคได้

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2563