ศึกแบนสารเคมีระอุ “19 ภาคีเกษตร”หนุน 'เฉลิมชัย' ชน 'อนุทิน'

01 ก.ย. 2563 | 06:40 น.

19 ภาคีเกษตรออกโรงหนุน 'เฉลิมชัย' รมว.เกษตรและสหกรณ์ กรณียื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อขอให้ยกเลิกการแบนสารเคมีเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ระบุต้องยึดประโยชน์ของเกษตรกร จวก 'มนัญญา' เมินฟังผู้ได้รับผลกระทบ ด้าน ‘อนุทิน’ แถลงจุดยืนสธ. ยันไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวให้ยกเลิกมติการแบนสารพิษ เพราะสุขภาพประชาชนต้องมาก่อน

 

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ในฐานะตัวแทน 19 ภาคีเกษตร ออกมาแถลงจุดยืนเมื่อวานนี้ (31 ส.ค.) สนับสนุน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณียื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อ ขอให้ “ยกเลิก” การแบนสารเคมีเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส  โดยนายสุกรรณ์ระบุว่า “ขอให้รัฐมนตรียึดถือประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติเป็นสำคัญ ความเสียหายของเกษตรกรเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสารทางเลือกที่ราคาสูง ฆ่าหญ้าไม่ตาย แต่พืชประธานตายทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ใครจะรับผิดชอบ”

 

ขณะที่ นายภมร ศรีประเสริฐ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโคราช เสริมว่า เกษตรกรผิดหวังกับข้าราชการกรมวิชาการเกษตร รวมถึง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ไม่มีความรู้และไม่รับฟังเสียงเกษตรกรที่เดือดร้อน พวกตนจึงต้องออกมาคัดค้าน เพราะมองเห็นผลกระทบที่ชัดเจน

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า พืชทุกชนิดจำเป็นต้องใช้สารพาราควอตตลอดทั้งปี ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังไม่มีสิทธิ์ใช้สารพาราควอต แต่สาธารณสุข และกรมปศุสัตว์กำหนดให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่ปนเปื้อนพาราควอตได้ อย่างนี้ถือเป็นการจงใจทำร้ายเกษตรกรไทย

ศึกแบนสารเคมีระอุ “19 ภาคีเกษตร”หนุน 'เฉลิมชัย' ชน 'อนุทิน'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“มนัญญา” ลั่น ไม่ใช่คนซับซ้อน ชัดเจน แบนสารพิษอันตราย

ไฟเขียวร่างกฎหมายสารพิษตกค้าง  “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

ตั้งโต๊ะรับคืน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ภายใน 29 ส.ค.

ราชกิจจาฯ ประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” 1 มิ.ย.

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ด้าน นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ตั้งคำถามกรณี  น.ส.มนัญญา กล่าวว่าจะเอาสารพิษกลับมาอีกทำไม ตนขอถามว่าแล้วมีสารเคมีตัวไหนบ้างที่ไม่เป็นสารพิษ “สิ่งที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ล้วนแต่เป็นสารพิษ เพราะฉะนั้นท่านต้องแบนกลูโฟซิเนต ไกลโฟเซต ไปด้วยเช่นกัน หากรัฐมนตรีช่วยฯ รวมถึงมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และองค์กรต่าง ๆ ห่วงใยสุขภาพคนไทยจริง ก็ขอให้ช่วยไปคุยกับคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ประกาศหยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีสารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการตกค้างสารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น 0.01 0.02 อะไร ก็ต้องไม่มี” นายมนัสกล่าว และว่า รัฐไม่ควรปรับเงื่อนไขเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน และต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือน มิ.ย. 2564 ไม่เช่นนั้น จะเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน เพราะเมื่อแบนในประเทศแล้ว สินค้านำเข้าก็ไม่ควรจะมีการใช้สารทั้งสองชนิดดังกล่าว

 

อีกเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกมติแบน 2 สารเคมี คือ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ร่วมย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติสองมาตรฐาน หากแบนในประเทศ สินค้านำเข้าก็ไม่ควรที่จะตกค้างสองสารเคมีดังกล่าว  ควรต้องแบนเช่นเดียวกัน

 

“คำกล่าวอ้างของรัฐมนตรีช่วยฯ และกระทรวงสาธารณสุขที่ห่วงใยสุขภาพคนไทยและผู้บริโภคจึงฟังไม่ขึ้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเพื่อเอื้อนายทุน หากกระทรวงสาธารณสุขปรับกฎระเบียบว่า สินค้านำเข้าต้องตรวจไม่พบสารพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ดังนั้นการที่วัตถุดิบและสินค้าในประเทศตรวจไม่พบสารตกค้างทั้ง 2 ชนิด เกษตรกรไทยก็ต้องมีสิทธิ์ใช้สารทั้งสองชนิดได้เช่นกัน” นายเติมศักดิ์ กล่าว

สำหรับการแถลงจุดยืนของ 19 องค์กรเกษตรกรในนาม 19 ภาคีเกษตร นั้น ประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม  สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กลุ่มเกษตรมันสำปะหลังแปลงใหญ่นครราชสีมา กลุ่มเกษตรกรมันสำปะหลังหนองบุญมาก-ครบุรี-เสิงสาง เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี และกลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี

 

เนื้อหาของแถลงการณ์ระบุขอสนับสนุน และสรรเสริญนายเฉลิมชัย (รมว.เกษตร) ที่กล้าหาญส่งเรื่องถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนการยกเลิกสารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส กล้าปลดแอกเกษตรกรจากการจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับสูงสุด 1 ล้านบาท

 

และย้ำว่าขอเพียงให้รมว.เกษตรลงมือทำ เกษตรกรกว่า 10 ล้านคนทั่วแผ่นดินพร้อมสนับสนุน และจะเป็นที่จดจำไปอีกนาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับกรณีที่มีการยื่นเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ทบทวน มติเรื่องการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร (พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส) เพื่อเปิดทางให้นำสารบางตัวกลับมาใช้ใหม่นั้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (31 ส.ค.) ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค อารีนา เมืองทองธานี นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นำผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ของกระทรวง แสดงจุดยืน ในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยระบุว่า

 

เกี่ยวกับการที่มีผู้เสนอให้ยกเลิกการแบนสารพิษดังกล่าวข้างต้นนั้น กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องสุขภาพของคนไทย ขอยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้นำสารพิษกลับมาใช้ เพราะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า สารที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้แบนไปแล้วนั้น ล้วนมีอันตรายต่อสุขภาพ

 

“ขอให้หน่วยงานไหนก็ตาม ที่ต้องการนำสารเหล่านี้กลับมาใช้ ให้คำนึงถึงสุขภาพประชาชน และให้ยึดจุดยืนของรัฐบาล เรื่องสุขภาพคนไทยต้องมาก่อน โดยจุดยืนนี้ ทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 มาแล้ว” นายอนุทิน ยังกล่าวอีกว่า ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทางกระทรวงสาธารณสุข มีตัวแทนเพียง 2 คน แต่ทางกระทรวงจะสู้เต็มที่

 

“หากประชาชนเห็นด้วยไปในทิศทางเดียวกัน ส่งเสียงพร้อมกัน ย่อมประสบความสำเร็จในการแบนสารพิษดังกล่างอย่างแน่นอน” นายอนุทินกล่าว