น้ำท่วมซัดเอเชียใต้จมบาดาล  ประชากรหลายล้านไร้ที่อยู่

01 ก.ย. 2563 | 03:22 น.

“น้ำท่วม” ซึ่งเกิดจากฝนตกหนักยังคงสร้างความหายนะอย่างต่อเนื่องในเอเชียใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ซ้ำยังกำลังเผชิญวิกฤติหนักจากการระบาดของโควิด -19

 

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นับตั้งแต่ ฤดูมรสุม เริ่มขึ้น ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน และ เนปาล ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก อุทกภัย ใน ภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งมีจำนวนประชากร 1 ใน 4 ของโลก ไม่เพียงเท่านั้น มรสุมยังเพิ่มความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก ท้องร่วง และการติดไวรัสโคโรนาด้วย

(แฟ้มภาพซินหัว: ยานพาหนะวิ่งผ่านน้ำท่วมในเมืองการาจีทางตอนใต้ของปากีสถาน วันที่ 26 ส.ค. 2563)

ฤดูมรสุมของเอเชียใต้ ส่งผลกระทบต่ออนุทวีปอินเดียช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย. ของทุกปี มักก่อให้เกิดพายุไซโคลนและอุทกภัยร้ายแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และทำให้ผู้คนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบต่ำต้องพลัดพรากจากบ้าน

 

ทั้งนี้ บรรดานักวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝนตกชุกบ่อยขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อินเดีย” สะดุดโควิด ข้าวนึ่งไทยได้เฮ

บิ๊กป้อม สั่งรับมือ น้ำท่วม 40 จังหวัด

อินเดียเปิด "ทัชมาฮาล" วันนี้ แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันพุ่ง

 ชาวอัฟกันตกหลุมร้ายถึง 3 หลุม

อุทกภัยได้เพิ่มระดับความทุกข์ยากของอัฟกานิสถาน จากที่ต้องเผชิญภัยสงครามและการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

 

สำนักงานกระทรวงการจัดการภัยพิบัติและกิจการด้านมนุษยธรรมของอัฟกานิสถานระบุว่า เมื่อนับถึงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27 ส.ค.) เหตุน้ำท่วมร้ายแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 122 ราย บาดเจ็บ 147 รายและผู้สูญหายอีกหลายรายใน 12 จังหวัดทางตะวันออกของประเทศ

(แฟ้มภาพซินหัว: บ้านเรือนที่เสียหายจากน้ำท่วมในเมืองซาริการ์ จังหวัดปาร์วัน ประเทศอัฟกานิสถาน วันที่ 26 ส.ค. 2563)

น้ำท่วมครั้งร้ายแรงนี้ยังทำลายบ้านเรือน 1,500 หลัง ร้านค้า 23 แห่งและพื้นที่การเกษตรมากกว่า 1,100 เฮกตาร์ (ราว 6,875 ไร่) และทำให้สัตว์เลี้ยงในฟาร์มสูญหายถึง 600 ตัว

 

เหตุโจมตีด้วยระเบิดและความรุนแรงยังคงพบเห็นอยู่เนือง ๆ ในประเทศอัฟกานิสถาน ที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

นาอีม นาซารี รองหัวหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอิสระของอัฟกานิสถานรายงานว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พลเรือนมากกว่า 1,200 คนเสียชีวิตและอีกกว่า 1,700 คนได้รับบาดเจ็บจากภัยสงคราม นอกจากนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 30 ส.ค. ยังชี้ว่า ประเทศอัฟกานิสถานกำลังเผชิญภัยใหม่จากโรคโควิด-19 โดยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ยืนยันแล้ว 22 ราย ส่งผลให้ตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อทั้งหมดอยู่ที่ 38,165 ราย โดยมีผู้เสียชีวิต 1,402 ราย นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคนี้ในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา

 

รุกหนักทั้งอุทกภัยและโรคร้าย

ส่วนที่ปากีสถานและอินเดีย ฤดูมรสุมกำลังกระหน่ำทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งเดือดร้อนอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคติดต่ออื่น ๆ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมราว 70,000 ราย (จากทั้งสองประเทศ)

(แฟ้มภาพซินหัว: รถบัสโดยสารและรถตู้จมอยู่ใต้น้ำหลังเกิดฝนตกหนักในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย วันที่ 19 ก.ค. 2563)

อย่างไรก็ตาม อุทกภัยที่กระหน่ำซ้ำเติมเข้ามา ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 12 รายจากภาวะน้ำท่วมและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฝน ในรัฐโอดิชาทางตะวันออกของอินเดีย เจ้าหน้าที่กล่าวเมื่อวันเสาร์ (29 ส.ค.) โดยสถานีวิทยุแห่งชาติอินเดีย (AIR) รายงานว่า เดือนส.ค. ปีนี้ มีปริมาณฝนตกมากที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลของฝ่ายจัดการภัยพิบัติของรัฐพิหาร (BDMD) ของอินเดีย ระบุว่าเหตุน้ำท่วมต่อเนื่องได้บุกพื้นที่ 16 เขตทั่วรัฐ ส่งผลกระทบต่อประชากรราว 8,362,451 คน

 

ขณะเดียวกัน ที่ปากีสถานมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 163 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 101 รายจากภัยพิบัติฤดูมรสุมตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. มาจนถึงขณะนี้

(แฟ้มภาพซินหัว: ผู้คนเดินย่ำกลางน้ำท่วมหลังฝนตกหนักในเมืองท่าการาจี ทางตอนใต้ของปากีสถาน วันที่ 27 ส.ค. 2563)

หน่วยงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (NDMA) ของปากีสถานรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (30 ส.ค.) ว่าจังหวัดสินธุใต้เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิต 61 รายและผู้ได้รับบาดเจ็บ 22 ราย

 

ส่วน “การาจี”  เมืองเอกของจังหวัดสินธุได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากฝนมรสุมครั้งนี้ น้ำท่วมทำให้ชีวิตผู้คนในเมืองหยุดชะงัก

 

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า 90% ของกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในเมืองล้วนติดขัดหลังจากฝนห่าใหญ่ซัดโจมตีเมืองเมื่อหลายวันก่อนและยังคงดำเนินต่อเนื่องมา

 

นายไซเอ็ด มุราด อาลี ชาห์ หัวหน้ารัฐมนตรีจังหวัดสินธุ กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ว่า (28 ส.ค.) การาจีบันทึกปริมาณน้ำฝนได้ถึง 604 มิลลิเมตรในช่วงเดือนส.ค. ทำลายสถิติเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของหลายปีที่ผ่านมา

 

“แอ่งน้ำนิ่งจำนวนมากได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับยุง สร้างความเสี่ยงสูงต่อโรคต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออกและมาลาเรีย” อบิเชค ริมาล ผู้ประสานงานด้านสุขภาพฉุกเฉินระดับภูมิภาคของสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ในเอเชียแปซิฟิกกล่าว

 

กรมอุตุนิยมวิทยาของปากีสถานคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักมากขึ้นในบางพื้นที่ของประเทศในต้นสัปดาห์นี้ (31 ส.ค.) และได้ออกคำเตือนว่าจะเกิดน้ำท่วมตัวเมืองในบางเมืองรวมถึงการาจี

ระดับน้ำในบังกลาเทศลดลง

บังกลาเทศกำลังเผชิญวิกฤตไม่แตกต่างกัน โดยกองอำนวยการบริการสุขภาพ (DGHS) รายงานพบผู้ติดโรคโควิด-19 รายใหม่ 1,897 รายและผู้เสียชีวิตรายใหม่ 42 รายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (30 ส.ค.) ดันยอดรวมผู้ติดเชื้อแตะที่ 310,822 ราย และยอดรวมผู้เสียชีวิตที่ 4,248 ราย ท่ามกลางความโชคร้ายดังกล่าว ภาวะฝนตกหนักยังทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำเติมอีก

(แฟ้มภาพซินหัว: บ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในเมืองผริทปุระ บังคลาเทศ วันที่ 19 ก.ค. 2563)

อุทกภัยในบังกลาเทศเกิดจากน้ำท่วมรุนแรง 3 ระลอก ขณะนี้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดีขึ้น หลังจุดสังเกตการณ์ส่วนใหญ่จากทั้งหมด 101 จุดในเขตลุ่มน้ำหลัก 4 แห่ง เริ่มมีระดับน้ำลดลง

 

ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและการควบคุมโรครายงานว่า น้ำท่วมได้คร่าชีวิตผู้คนในบังคลาเทศไปแล้ว 226 รายใน 33 อำเภอ (จากทั้งหมด 64 อำเภอ) นับตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ขณะการสูญเสียทางการเกษตรประเมินค่าได้ราว ๆ 1.32 หมื่นล้านตากา (ประมาณ 4,860 ล้านบาท)

 

นายอับดูร์ ราซซาเก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของบังกลาเทศ เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีพืชผลการเกษตรใน 37 เขต รวมพื้นที่ราว 158,000 เฮกตาร์ (ราว 987,500 ไร่) ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้

 

ที่มา สำนักข่าวซินหัว