‘เอ็ตด้า’ปรับทัพ รับบทบาท‘เรกูเลเตอร์’

02 ก.ย. 2563 | 03:00 น.

“เอ็ตด้า” กางแผนปรับทัพรับบทบาท “เรกูเลเตอร์” ควบคุมผู้ให้บริการด้านดิจิทัล พร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการดิจิทัล ไอดี, อี-ซิกเนเจอร์ และอี-ไทม์สแตมป์ สู่บริการภาครัฐแบบ One Stop Service

    นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายในปี 2564 นั้น เอ็ตด้าจะเร่งดำเนินงาน 3 โครงการ ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คาดการณ์อนาคตผ่านการสำรวจและวิจัยด้าน อี-ทรานแซคชัน และ อี-คอมเมิร์ซ ถอดบทเรียนจากเวทีระหว่างประเทศให้ภาคส่วนต่างๆ มีฐานข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายหรือวางแผนการทำธุรกิจ สร้างมาตรฐานที่เป็นสากลเพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการพัฒนากำลังคนด้าน อี-ทรานแซคชัน และอี-คอมเมิร์ซ 2. เร่งเครื่องกลไกดูแลธุรกิจดิจิทัล ด้วยการจัดทำหลักเกณฑ์ กฎหมาย มาตรฐานรวมถึงแนวปฏิบัติในการดูแลธุรกิจดิจิทัลและบริการที่สำคัญๆ เพื่อให้หน่วยงานรัฐเอกชนมีกฎหมายมาตรฐานรองรับการให้บริการดิจิทัล 3. เสริมฐานรากแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐพัฒนามาตรฐานของข้อมูลและเอกสารสำคัญของรัฐ จัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID)ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-signature), การประทับรับรองเวลา(e-timestamping) ในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-document) และอบรมเพิ่มทักษะแก่บุคลากรภาครัฐ

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA (เอ็ตด้า) 

 

    ทั้งนี้เป้าหมายหลักในปี 2565 ประเทศไทยต้องมีภูมิทัศน์ด้านบริการดิจิทัล (Digital Services Landscape) ที่ได้มาตรฐานและการกำกับดูแลบริการที่สำคัญเพื่อทำให้เกิดความเชื่อถือและความปลอดภัยในการทำ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง Digital ID, e-document, e-signature และ e-timestamp ประเทศต้องมีดิจิทัลไอดีอีโคซิสเต็ม สำหรับการเข้าถึงบริการภาครัฐและทำธุรกรรมออนไลน์ป้องกันการฉ้อโกง ต้องมีบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐที่ได้มาตรฐาน โดยเอ็ตด้ามีงานพื้นฐานที่สำคัญ คือ การจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลให้คำปรึกษาแก่รัฐและเอกชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ศึกษาอุปสรรคของการพัฒนา อี-คอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์สัญชาติไทย และเป็นองค์กรต้นแบบของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันให้กับหน่วยงานภาครัฐและสนับสนุนภาคเอกชน

    นอกจากนี้เอ็ตด้าจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) สู่การเป็นผู้กำกับควบคุม (Regulator) มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยงของการให้บริการในทุกภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลไอดีโดยคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภค แก้ไขข้อร้องเรียน ควบคุมคุณภาพ ดูแลความน่าเชื่อถือที่ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการกำกับดูแลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นตัวกลางในการควบคุมดูแลตรวจสอบกระบวนการขั้นตอน การออกใบรับรอง และกำหนดมาตรฐาน ทั้งนี้ในปี 2565 เอ็ตด้าตั้งเป้าการให้บริการภาครัฐแบบ One Stop Service ที่ในปีนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 29%

     ขณะที่ในปี 2563 เอ็ตด้าได้ส่งมอบงานสำคัญผ่าน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ Digital Governance เร่งรัดกฎหมายร่าง พ.ร.ฎ. ดิจิทัลไอดี และ ร่าง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (CA) ออกข้อเสนอแนะมาตรฐาน แนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ผลักดันระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Meeting สัญชาติไทย 2. โครงการ Speed-up e-Licensing การออกใบอนุญาตของภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัลผ่านโครงสร้างข้อมูล(Schema) โดยดำเนินการแล้วจำนวน 29 ใบอนุญาต รวมถึงการตรวจรับรองผู้ให้บริการที่นำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 12 ราย และการใช้บริการ e-timestamping ประทับรับรองเวลาของ e-document 3. โครงการ Digital Transformation จัดทำโครงการGovernment Threat Monitoring System (GTM) เฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานรัฐ250 หน่วยงาน พร้อมเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์ม Threat  Watch ยกระดับการเฝ้าระวังอีก 34 หน่วยงาน 4. โครงการ Thailand e-Commerce Sustainability จับมือเครือข่ายลงพื้นที่พัฒนา อี-คอมเมิร์ซ 12 ชุมชนทั่วประเทศเปิดหลักสูตรออนไลน์ อัพสกิล รีสกิล ผู้ประกอบการสร้างโอกาสทางธุรกิจ 5. โครงการ Stop e-Commerce Sustainability Fraud โดยการจัดตั้งสำนักงานไซเบอร์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแจ้งเตือนภัยไซเบอร์รวมถึงจัดอบรมความรู้เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนด้านการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้น 

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,606 หน้า 16 วันที่ 3-5 กันยายน 2563