นายกฯรับลูก“วิชา”จ่อตั้งกก.สอบคดี“บอส อยู่วิทยา”

31 ส.ค. 2563 | 12:42 น.

“นายกฯ”ยอมรับคดี“บอส อยู่วิทยา”มีคนบกพร่อง-หละหลวม เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีต่อ

 

วันนี้ (31 ส.ค.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการตรวจสอบคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเจ้าสัวกระทิงแดง ขับรถชนตำรวจตาย ปี 2555 ชุดที่มี นายวิชา มหาคุณ สรุปผลของคดีเสร็จและส่งรายงานให้แล้ว ว่า คดีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา มีปัญหาในข้อกฎหมาย ทั้งจากสำนวนการสอบสวน หรือการเรียกพยานมาสอบปากคำ ดังนั้น จะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาให้เกิดความชัดเจน แต่เชื่อว่าจะสามารถทำคดีใหม่ได้

 

นายกฯยังยอมรับถึงข้อบกพร่อง และความหละหลวมต่อคนที่ทำคดีนี้ จึงเตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนคดีนี้ต่อ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“วิชา”ชงนายกฯรื้อใหม่คดี“บอส อยู่วิทยา” ฟันวินัย-อาญา 8 กลุ่ม

ระทึกชงผลสอบคดี"บอส อยู่วิทยา"เข้าครม.พรุ่งนี้ นายกฯแถลงเปิดชื่อด้วยตัวเอง

ตำรวจชง 3 ข้อหาให้“อัยการ”สั่งฟ้อง“บอส อยู่วิทยา”

ด่วน ศาลออกหมายจับ “บอส อยู่วิทยา” 3 ข้อหา

 “ทนายสุกิจ”เผย“บอส อยู่วิทยา”อยากกลับไทย-ขออย่ารังแกกัน

ตร.ชงคดี“บอส อยู่วิทยา”ปม“ซิ่งรถเร็ว-ยาเสพติด”ถึงอัยการพรุ่งนี้

TIJ เผยคดี“บอส อยู่วิทยา"ฉุดความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม

 

 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า เนื้อหาในรายงานตรวจสอบดังกล่าว แบ่งเป็น 5-6 ส่วนหลัก คือ

 

1.กระบวนการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้มีการรื้อคดีสอบสวนใหม่ทั้งหมด เช่น การให้นายตำรวจที่ถูกชนเสียชีวิตตกเป็นผู้ต้องหา , การสร้างพยานหลักฐานเท็จ โดยเฉพาะเรื่องความเร็วของรถเฟอร์รารี

 

2.เห็นควรให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยและอาญากับผู้เกี่ยวข้องจำนวน 8 กลุ่ม โดยส่งเรื่องให้หน่วยงานสอบสวน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ)

 

 3.ให้สอบสวนจริยธรรมของผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้การสอบสวนมีความบกพร่องและให้เผยแพร่รายงานการสอบสวนต่อสาธารณชนทั้งหมด

 

4.ให้แก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การมอบอำนาจ เมื่อผู้บังคับบัญชามอบอำนาจให้ระดับรองไปแล้ว ต้องเข้าไปติดตามกำกับดูแล ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจให้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนทำให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีตำรวจและอัยการในคดีนายวรยุทธ ดังนั้นหากไม่ติดตามกำกับดูแล ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชามีความผิด

 

5.การร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการของผู้ต้องหา ควรพิจารณาดำเนินการได้เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ถ้าหากจะมีการร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มเติม ต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น

 

นอกจากนั้นเมื่ออัยการสูงสุด (อสส.) มอบให้รอง อสส.ไปดูแลงานเหล่านี้ จะต้องแยกการร้องขอความเป็นธรรมกับการสั่งคดีออกจากกัน จะให้อยู่ที่รอง อสส.เพียงคนเดียวไม่ได้ เพื่อให้มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

 

6.ควรมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ให้ไม่มีอายุความเหมือนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง