“วิชา”ชงนายกฯรื้อใหม่คดี“บอส อยู่วิทยา” ฟันวินัย-อาญา 8 กลุ่ม

31 ส.ค. 2563 | 12:24 น.

  ทีม “วิชา มหาคุณ” เสนอนายกฯรื้อสอบใหม่หมดคดี “บอส อยู่วิทยา” พร้อมชงฟันวินัย-อาญาผู้เกี่ยวข้อง 8 กลุ่ม

 

วันนี้(31 ส.ค.63) จากกรณี นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นำรายงานฉบับสมบูรณ์ในการค้นหาความจริงกรณีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมระบุว่ารายงานที่ส่งให้นายกฯ มีเนื้อหาประมาณ 100 หน้า แต่ข้อสรุปจริงๆ มีประมาณ 10 หน้า เป็นรายละเอียดเขียนไว้ชัดเจนว่า เกิดความบกพร่องที่ใคร หน่วยงานไหนนั้น

 

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า เนื้อหาในรายงานตรวจสอบดังกล่าว แบ่งเป็น 5-6 ส่วนหลัก คือ

 

1.กระบวนการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้มีการรื้อคดีสอบสวนใหม่ทั้งหมด เช่น การให้นายตำรวจที่ถูกชนเสียชีวิตตกเป็นผู้ต้องหา , การสร้างพยานหลักฐานเท็จ โดยเฉพาะเรื่องความเร็วของรถเฟอร์รารี

 

2.เห็นควรให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยและอาญากับผู้เกี่ยวข้องจำนวน 8 กลุ่ม โดยส่งเรื่องให้หน่วยงานสอบสวน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ)

 

 3.ให้สอบสวนจริยธรรมของผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้การสอบสวนมีความบกพร่องและให้เผยแพร่รายงานการสอบสวนต่อสาธารณชนทั้งหมด

                                             “วิชา”ชงนายกฯรื้อใหม่คดี“บอส อยู่วิทยา” ฟันวินัย-อาญา 8 กลุ่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระทึกชงผลสอบคดี"บอส อยู่วิทยา"เข้าครม.พรุ่งนี้ นายกฯแถลงเปิดชื่อด้วยตัวเอง

ตำรวจชง 3 ข้อหาให้“อัยการ”สั่งฟ้อง“บอส อยู่วิทยา”

ด่วน ศาลออกหมายจับ “บอส อยู่วิทยา” 3 ข้อหา

 “ทนายสุกิจ”เผย“บอส อยู่วิทยา”อยากกลับไทย-ขออย่ารังแกกัน

ตร.ชงคดี“บอส อยู่วิทยา”ปม“ซิ่งรถเร็ว-ยาเสพติด”ถึงอัยการพรุ่งนี้

TIJ เผยคดี“บอส อยู่วิทยา"ฉุดความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม

 

4.ให้แก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การมอบอำนาจ เมื่อผู้บังคับบัญชามอบอำนาจให้ระดับรองไปแล้ว ต้องเข้าไปติดตามกำกับดูแล ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจให้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนทำให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีตำรวจและอัยการในคดีนายวรยุทธ ดังนั้นหากไม่ติดตามกำกับดูแล ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชามีความผิด

 

5.การร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการของผู้ต้องหา ควรพิจารณาดำเนินการได้เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ถ้าหากจะมีการร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มเติม ต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น

 

นอกจากนั้นเมื่ออัยการสูงสุด (อสส.) มอบให้รอง อสส.ไปดูแลงานเหล่านี้ จะต้องแยกการร้องขอความเป็นธรรมกับการสั่งคดีออกจากกัน จะให้อยู่ที่รอง อสส.เพียงคนเดียวไม่ได้ เพื่อให้มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

 

6.ควรมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ให้ไม่มีอายุความเหมือนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง