"อนุสรณ์" จี้ "ธปท." เลิกแนวคิด "อนุรักษ์นิยม" ชี้แก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้

30 ส.ค. 2563 | 11:05 น.

“อนุสรณ์” แนะ “ธปท.” ใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% คู่การผ่อนคลายสินเชื่อ พร้อมเลิกใช้แนวคิด “อนุรักษ์นิยม” ชี้แก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบ Average Inflation Targeting (เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย) ของธนาคารกลางสหรัฐฯสอดคล้องกับ Flexible Inflation Targeting (เงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย) ของ ธปท. ในการเผชิญความท้าทายเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อต่ำมาก นโยบายการเงินดังกล่าวของไทยเหมาะสมต่อสถานการณ์ แต่ต้องทำเชิงรุกมากขึ้นอีกจากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มีการเลิกจ้างจำนวนมาก และ การทรุดตัวของภาคเกษตรกรรมจากน้ำท่วมและภัยแล้ง

              ทั้งนี้  หากวิเคราะห์ผลของการเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินแบบ Average Inflation Targeting ของธนาคารกลางสหรัฐจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกในหลายมิตินั้น  การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯยังตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2% แต่ยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการนำเอาค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อที่ผ่านมาคำนวณด้วย เพื่อให้เกิดเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะปานกลางและระยะยาว

และเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการว่างงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การนำเอาค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อมาพิจารณาทำให้ธนาคารกลางยังไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแม้นอัตราเงินเฟ้อในอนาคตจะสูงกว่าระดับ 2% ในทันที อัตราเงินเฟ้อต้องสูงกว่า 2% ยาวนานพอเพื่อทำให้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2% จึงขึ้นดอกเบี้ยได้ เพราะในช่วงนี้ ช่วงที่ผ่านมา และ ในอนาคตอันใกล้ เงินเฟ้อต่ำกว่า 2% ค่อนข้างมาก เงินเฟ้อที่ต่ำมากเกินเป็นความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจถดถอยถลำลึกและยาวนาน

ฉะนั้น นโยบายการเงินแบบดอกเบี้ยต่ำมากจะอยู่กับเราไปอีกนานมาก อย่างน้อย 2-3 ปี ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี ค.ศ. 2008 ธนาคารกลางสหรัฐฯ พบว่าเงินเฟ้อในสหรัฐมักอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% มาตลอดยกเว้นปี ค.ศ. 2011-2012 ส่งผลให้ธนาคารกลางมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อต่ำ ทำให้มีแนวคิดที่จะปล่อยให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมากๆในระยะปานกลางและระยะยาว 

"อนุสรณ์" จี้ "ธปท." เลิกแนวคิด "อนุรักษ์นิยม" ชี้แก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้ "อนุสรณ์" จี้ "ธปท." เลิกแนวคิด "อนุรักษ์นิยม" ชี้แก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้

อย่างไรก็ดี  การใช้เครื่องมือ Average Inflation Targeting ในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯเมื่อวันที่ 15-16 กันยายนในเมืองแจคสัน โฮล แนวนโยบายการเงินดังกล่าวจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรและโยกเงินลงทุนไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นต่อได้แต่การปรับตัวขึ้นจะถูกจำกัดโดยผลประกอบการที่ย่ำแย่และยังไม่ฟื้นตัวดีนักในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะที่ราคาทองคำยังคงปรับฐานลดลงได้อีก แต่ก็สามารถปรับขึ้นได้หากตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงต่อเนื่อง ธนาคารกลางประเทศต่างๆยังคงเพิ่มทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ และนักลงทุนและบรรดากองทุนต่างๆโยกเงินทุนมายังทองคำที่เป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ความผันผวนและช่วงความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินจะเพิ่มขึ้นจาก การใช้นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย แนวทางนโยบายการเงินดังกล่าวจึงเป็นทั้ง “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” ของนักลงทุนในตลาดการเงิน และ เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจที่ภาวะต้นทุนทางการเงินต่ำจะอยู่ไปอีกยาวนาน ช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้สินไม่ให้รุนแรงมากกว่าเดิม

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า อุปสงค์ภายในประเทศหรือตลาดโลกเกิดภาวะ Pending Demand ในเดือน กรกฎาคม และในเดือนสิงหาคมเป็นภาวะฟื้นตัวของอุปสงค์ชั่วคราวเท่านั้นจากความต้องการที่ถูกปิดกั้นเอาไว้ในช่วงปิดเมือง และ การเพิ่มขึ้นของ Pending Demand ไม่ได้เป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใดๆทั้งสิ้นตราบเท่าที่คนจำนวนมากยังว่างงานและไม่มีรายได้ที่มั่นคง อุปสงค์ที่ถูกกดทับจากการปิดเมืองจะค่อยๆลดลงอีกจากการที่หลายประเทศต้องปิดเมืองอีกรอบหนึ่งจากการะบาดระลอกสอง

สถานการณ์การแพร่ระบาดและการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในไทยดีกว่าหลายประเทศมากจึงเป็นข้อได้เปรียบของเศรษฐกิจไทย หากเปิดการท่องเที่ยวต้องไม่ให้เกิดความเสี่ยงการแพร่ระบาดระลอกสองและต้องควบคุมการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านให้ดี เศรษฐกิจภายในและภาคส่งออกของไทยจะทรุดตัวลงกว่าช่วงสองเดือนที่ผ่านมา (เดือน ก.ค. และ เดือน ส.ค.) หากเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองแล้วต้องปิดเมืองอีก ดอลลาร์อ่อนค่าลงจากนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยจะทำให้เงินบาทแข็งขึ้น ซ้ำเติมภาคส่งออกไทยเพิ่มขึ้นอีก

การใช้นโยบายการเงินแบบเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (Flexible Inflation Targeting) ของแบงก์ชาติเหมาะสมกับสถานการณ์แล้วแต่ต้องทำเชิงรุกมากกว่าเดิม เศรษฐกิจไทยนั้นเผชิญอัตราเงินเฟ้อติดลบ มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่จำนวนมาก อาจเกิดภาวะฟองสบู่แตกจากการลงทุนส่วนเกินจำนวนมากในพื้นที่ “อีอีซี” (EEC) กิจการท่องเที่ยวและธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และ ห้างสรรพสินค้าเครือข่ายธุรกิจค้าปลีก

นอกจากนี้ ภาวะการเลิกจ้าง การล้มละลายและปิดกิจการขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลางยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้ง ปัจจัยต่างๆเหล่านี้อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี พ.ศ. 2563 ต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์และ ธปท. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปครึ่งปีหลังอาจจะยังติดลบต่อเนื่องที่ระดับ (-3.0) – (-2.0)% ยกเว้นเดือนกรกฎาคม และสิงหาคมที่อาจติดลบไม่มากนัก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อนุสรณ์” ห่วงไทยมีปัญหา “ภาวะเงินฝืด”

“อนุสรณ์” แนะ "รัฐบาล" กู้เพิ่ม 3-5 แสนล้านฟื้นเศรษฐกิจ

“อนุสรณ์” กระทุ้ง “กนง.” ลดดอกเบี้ยชะลอบาทแข็ง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ 0% หรือติดลบเล็กน้อย หากมีสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงติดลบต่ออีกในปี พ.ศ. 2564 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินควรพิจารณาใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% สิ่งนี้ต้องทำควบคู่กับการผ่อนคลายสินเชื่อและต้องทบทวน “แนวคิดอนุรักษ์นิยม” ในการบริหารนโยบายการเงินซึ่งจะแก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้ ต้องทบทวนแนวคิดเสียใหม่ และ ต้องไม่คิดว่าการพิทักษ์และป้องกันไม่ให้เกิดการล้มละลายในภาคธุรกิจ หรือ การเข้าเพิ่มทุนเพื่อไม่ให้สถาบันการเงินล้ม เป็น แนวคิดแบบสังคมนิยม การแทรกแซงกลไกตลาดโดยรัฐอาจมีความจำเป็นเพื่อต่อสู้กับภาวะวิกฤติที่เอกชนหรือกลไกตลาดไม่สามารถรับมือได้ดีนัก     

              การเพิ่มทุนของระบบธนาคารพาณิชย์และธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระบบธนาคารพาณิชย์ในการรับมือกับปัญหาหนี้เสียที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสี่เป็นต้นไปและเพื่อให้ธุรกิจอุตสาหกรรมมีเงินทุนเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ หลายกิจการไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มเติมได้แล้วและจำเป็นต้องเพิ่มทุน หากพิจารณาในมุมของเศรษฐกิจมหภาค

รัฐบาลอาจจำเป็นต้องเข้ามาเพิ่มทุนให้กับธนาคารรัฐบางแห่ง เพิ่มทุนให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วน การเพิ่มทุนต้องมีขนาดใหญ่พอและกว้างขวางพอจึงฟื้นเศรษฐกิจได้ เอกชนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศเมื่อได้รับการเพิ่มทุนแล้วต้องโอนกิจการมาเป็นของรัฐชั่วคราว เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจึงค่อยลดขนาดการถือหุ้นของรัฐหรือลดความเป็นเจ้าของของรัฐ หรือแปรรูปกิจการดังกล่าวให้เป็นเอกชนผ่านกลไกตลาด มาตรการที่เสนอนี้ต้องมีเป้าหมาย มีหลักเกณฑ์ มีกลไกกำกับดูแล รวมทั้งต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาล

ไม่เช่นนั้นแล้วจะก่อให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกเอื้อประโยชน์อย่างมาก เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร หากไม่เชื่อมั่นว่าระบบของรัฐไทยทำได้อย่างโปร่งใส นโยบายนี้ไม่ควรนำมาใช้ และ ยังคงต้องอาศัยกลไกธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่อไป หากยังไม่ได้ผลอีก หรือ ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยมากต้องใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อ หรือ ต้องทำให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมากพิเศษ หรือ ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าดอกเบี้ยฝากประจำสองปีเฉลี่ยทั้งระบบเพียงเล็กน้อย หรือ ประมาณไม่เกิน 1.5%     

โครงสร้างระบบทุนนิยมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างชัดเจน ทุนนิยมโลกจะไม่เผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงไปอีกหลายปี โครงสร้างระบบเศรษฐกิจกลายเป็น เศรษฐกิจดิจิทัล มากขึ้นตามลำดับ มูลค่าของตลาดหุ้นไฮเทค หรือ ตลาดหุ้น NASDAQ อยู่ที่ 9.1 ล้านล้านดอลลาร์ มีมูลค่าสูงกว่า ตลาดหุ้นหลักๆของยุโรปรวมกันซึ่งอยู่ที่ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ แล้ว การที่เศรษฐกิจได้แปรเปลี่ยน หรือ Transform เป็น เศรษฐกิจแบบดิจิทัล มากขึ้นตามลำดับ ทำให้ ธุรกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจมีต้นทุนต่ำลง

ธุรกิจแพลตฟอร์มทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้น ตัดคนกลางหรือตัวกลางออก ใช้พลังงานลดลง ทำให้ ราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างชัดเจน โจทย์ของปัญหาเศรษฐกิจโลกจึงไม่ใช่อัตราเงินเฟ้ออีกต่อไป แต่โจทย์ของเศรษฐกิจโลกตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้คนมีกำลังซื้อ มีงานทำ รวมทั้ง ลดความเหลื่อมล้ำและอำนาจผูกขาดในช่องทางในการกระจายสินค้าและบริการ