ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม ป่วน! หลังปรับแก้ ทีโออาร์ วุ่น

30 ส.ค. 2563 | 04:49 น.

ประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ส่อล่าช้า หลังรื้อเกณฑ์ทีโออาร์ วุ่น "บอร์ดรฟม." ย้ำ ปรับ ดึงเทค นิค-ราคา ประเมินคู่กัน ไม่ผิดพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 “ศักดิ์สยาม” ลั่น ไม่ถูกต้อง ยกเลิกได้  ด้านสคร.เผยเอกชนมีสิทธิ์ยื่นค้าน ขณะที่บีทีเอสโวยไม่เห็น

ยังคงเป็นข้อกังขาเอกชนผู้ซื้อเอกสารร่วมทุน  สำหรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ หรือเกณฑ์ประมูลโครงรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวิทวงศ์)   อาจ ส่งผลให้การประมูลล่าช้า  ขณะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)  ยืนยันสามารถแก้ไขตามความเหมาะสมได้เนื่องจาก เป็นโครงการขนาดใหญ่มีส่วนงานใต้ดินค่อนข้างมาก  ต้องใช้ทักษะ เทคนิคชั้นสูง

 

 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการฯ โดยให้นำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินรวมกับการเงินด้วยในสัดส่วน 30% ด้วยว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นกระบวนการที่ไม่ต้องเสนอให้บอร์ด รฟม. พิจารณา แต่จากการสอบถามเบื้องต้นกับนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ยืนยันว่า สามารถดำเนินการได้ เพราะอยู่ในขอบเขตอำนาจของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36

 ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม  ป่วน! หลังปรับแก้ ทีโออาร์ วุ่น

 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สำหรับการปรับหลักเกณฑ์นั้น หลังจากนี้ทางรฟม.ต้องชี้แจงต่อเอกชนทั้ง 10 รายที่ยื่นซื้อซองประมูล เบื้องต้นมีการขยายระยะเวลา 45 วัน ส่งผลให้การยื่นซองประมูลโครงการฯ ล่าช้าออกไป ขณะเดียวกันการปรับหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ผิดต่อพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่นั้น เป็นเพียงความคิดเห็นบางส่วนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยขึ้นอยู่กับการตีความ ส่วนเอกชนจะยื่นซองประมูลโครงการฯ หรือไม่ เป็นสิทธิ์ของเขาหรือจะคัดค้านเขาก็มีสิทธ์ได้เช่นกัน

 

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 มีมติปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ล่าสุดทางบีทีเอสได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อรฟม.เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา

 “การที่เรายื่นหนังสือคัดค้านในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจจะเกิดความไม่โปร่งใสได้ ซึ่งเราต้องการให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกันทุกโครงการที่ผ่านมาจะประมูลด้วยเรื่องราคาเป็นหลัก แต่การดึงด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ร่วมกับด้านราคา ซึ่งต้องผ่านกระบวนการที่เข้มข้นอยู่แล้ว เพราะบริษัทที่ยื่นซื้อซองประมูลมีแต่เอกชนรายใหญ่ทั้งนั้น เบื้องต้นจะขอรอพิจารณารายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน ว่าเกณฑ์ดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ตามปกติแล้วหากมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกฯ ทาง รฟม.จะต้องทำหนังสือแจ้งผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการเข้าร่วมลงทุนทุกราย โดยจะมีการขยายเวลาการยื่นซองประมูลสายสีส้มออกไป 45 วัน ทั้งนี้ยืนยันจะเข้าร่วมประมูลในโครงการฯ ซึ่งจุดแข็งของเราสามารถดำเนินการทั้งรถไฟฟ้าบนดินหรือใต้ดินมา 20 ปีแล้ว ทุกครั้งที่เราเข้าประมูลเราก็คาดหวังในการชนะการประมูลในราคาที่เราสู้ได้”

 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ตามระเบียบกฎหมายต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องก็ยกเลิก เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้เปิดประมูล วันนี้การทำงานของกระทรวงคมนาคมมีธรรมมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วม ได้ให้นโยบายอย่างชัดเจนว่าต้องทำตามระเบียบกฎหมาย

 รายงานข่าวจากรฟม. ระบุว่า สำหรับการปรับหลักเกณฑ์ที่ได้ปรับปรุงจะกำหนดให้คะแนนซองข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน คิดเป็นคะแนนเต็ม 100 คะแนน ทั้งนี้ซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนจึงยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการตัดสินหาผู้ชนะการคัดเลือก การปรับปรุงวิธีการประเมินดังกล่าวจึงไม่ได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่ง นอกจากนี้ รฟม.ได้ดำเนินการขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไปอีก 45 วัน นับเป็นระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนประมาณ 70 วัน เพื่อให้ผู้ซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนทุกรายได้มีเวลาเพิ่มเติมในการศึกษาเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ซึ่งรวมถึงวิธีการประเมินข้อเสนอที่ได้ปรับปรุงด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ฉีก! ทีโออาร์ ซ่อนเงื่อน รถไฟฟ้า "สายสีส้ม"

 

"รฟม " ยัน TOR รถไฟฟ้า "สายสีส้ม" เพิ่มเทคนิค ‘แฟร์เกม’

“อิตาเลี่ยนไทย” ทำพิลึก ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม เลิกเน้นราคา

จับพิรุธ ! เปลี่ยนเงื่อนไข “TOR” ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม

“ITD” อ้าง รถไฟฟ้า“สายสีส้ม” เทคนิคขั้นสูง ทีโออาร์ อย่ายึดราคาประมูล

 สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี รวมวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท

หน้า  7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2563