ถึงเวลา Thailand First แล้วหรือยัง

30 ส.ค. 2563 | 01:25 น.

ในท่ามกลางกระแสของโลกาภิวัฒน์ ที่ประเทศต่าง ๆ เรียกร้องการค้าเสรีที่ไร้พรมแดน ถึงขั้นพยายามลงแรงตั้งองค์การการค้าโลก หลายประเทศมีข้อตกลงการค้าเสรีที่ยกเลิกหรือยุบกติกาและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้สินค้า ผู้คน เงินทุนเคลื่อนย้ายกันอย่างเสรี แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามออกมาตรการและกติกาใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมที่มีความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาพอนามัย เช่น Carbon label, BRC (British Retail Consortium) หรือ No GMO และอื่น ๆ ที่เป็นการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีนำเข้า

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อคุ้มครองธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศของตน ผมเห็นหลายประเทศเริ่มออกมาตรการดูแลธุรกิจในประเทศตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ประเทศต่าง ๆ ทำมานานแล้ว นานก่อนที่จะมีวิกฤติไวรัสโควิดเสียอีก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ตนเองมีธุรกิจอยู่ในประเทศ หรือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ

              ลองมาดูมาตรการอุตสาหกรรมเหล็กที่ประเทศผู้ผลิตต่าง ๆ ออกมาเพื่อปกป้องตนเอง เช่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ ที่อุตสาหกรรมเหล็กในบ้านตัวเองกำลังโดนคุกคามอย่างหนักจากจีน โดยสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการ Buy America and Hire American เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐนั้นต้องมีสัดส่วนการใช้เหล็กในประเทศไม่ต่ำกว่า 95% และสินค้าทั่วไป 50 – 75% โดยเฉพาะโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ถนน ทางรถไฟ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ หรือคลองชลประทาน

              ในขณะที่ประเทศอินเดีย ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ก็คล้าย ๆ กัน โดยใช้มาตรการ Make in India กำหนดให้มีสัดส่วนของวัสดุที่ใช้ในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีมูลค่าเกิน 215 ล้านบาท ต้องใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ ไม่น้อยกว่า 20% และต้องใช้สินค้าอื่น ๆ ในประเทศอีกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50% โดยในการจัดซื้อจัดจ้างก็ต้องมีการระบุสัดส่วน Local Content กำไร และแนวทางการใช้วัตถุดิบที่ทำในประเทศด้วย

 

จะว่าไปแล้ว การกีดกันทางการค้าในอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศต่าง ๆ รุนแรงมาตลอดหลายสิบปี เพราะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงรวมถึงการจ้างงาน นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของวัตถุดิบของธุรกิจในประเทศจำนวนมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศตนเองมาตลอด แต่ที่ผ่านมามักใช้มาตรการตามที่ระบุใน WTO กำหนด เช่น

Anti-Dumping (AD) หรือ Save Guard (SG) หรืออาจมีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในประเทศ (ซึ่งไม่ค่อยได้ผลมากนัก นอกจากรำคาญเพราะทำให้ต้นทุนสูงอีกนิด เสียเวลาอีกหน่อย) ประเทศไทยก็ใช้มาตรการเหล่านี้มาตลอด ในขณะที่เราก็โดนเขาเล่นมาตลอด จนตอนนี้สินค้าเหล็กของไทยแทบจะไม่มีการส่งออกอีกแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยุโรป ฯลฯ

ผมได้มีโอกาสคุยกับคุณนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่พยายามเรียกร้องให้รัฐใช้นโยบายสนับสนุนและปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมให้มากและเร็วที่สุดเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่เขาทำกัน ก่อนที่จะล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ลงทุนมาก หากล้มแล้วก็ล้มเลย ฟื้นยาก ต้องนำเข้าปีละ 2 แสนล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกว่า 1 แสนคน ซึ่งในทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่าง ๆ ที่มีราคาต่ำก็ไหลเข้าประเทศมามากในทุกรูปแบบ ผ่านการสนับสนุนและช่วยเหลือจากรัฐบาลของเขาในรูปแบบที่ซับซ้อนจนยากที่เราจะใช้มาตรการปกป้องตามที่ระบุไว้ในกรอบข้อตกลงการค้าเสรีที่เรามีอยู่

นาวา จันทนสุรคน

              “ยิ่งในภาวะวิกฤติขณะนี้ที่อุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ผมว่าน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะที่จะใช้มาตรการ THAILAND First ในอุตสาหกรรมเหล็ก แนวคิดที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเสนอเพื่อให้รัฐพิจารณานั้น คือขอให้รัฐพิจารณาใช้มาตรการ THAILAND First โดยให้โครงการของรัฐขนาดใหญ่ใช้เหล็กหรือผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศร้อยละ 95 เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามเป็นสมาชิกของความตกลงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement Agreement: GPA) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 47 ประเทศ และไทยเป็นเพียงประเทศผู้สังเกตการณ์ ดังนั้น การใช้มาตรการนี้ในภาครัฐจึงไม่ผิดกติกาขององค์การค้าโลกแต่อย่างไร” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.กล่าว

               จากการศึกษาเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในงานสัมมนาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 นั้น ระบุว่าหากมาตรการนี้มีผลใช้บังคับแล้วจะส่งผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยมูลค่าการผลิตเหล็กทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นกว่า 420,000 ล้านบาท การจ้างงานเพิ่มกว่า 140,000 คน

และมีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมโดยการขยายตัวการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กจะส่งผลผ่านสาขาบริการ ค้าปลีก ค้าส่ง การขนส่งและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก ส่งผลต่อมูลค่าเพิ่มในประเทศกว่า 73,000 ล้านบาท ซึ่งการศึกษาระบุว่าผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นที่ผลิตในประเทศมีผลต่อการสร้างรายได้ การจ้างงาน และ GDP  ของประเทศมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็โดนทุ่มตลาดจากต่างประเทศมากที่สุดในขณะนี้

              นายศักดิ์ชัย ธนบดีจิรพงศ์ รองนายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย กล่าวเสริมว่า การนำเข้าเหล็กเส้นปีหนึ่ง ๆ จำนวนมาก ในราคาที่ต่ำมากนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลอมและหล่อเหล็กในประเทศอย่างมาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในเหล็กเส้นนำเข้าก็ตาม แต่ก็กันได้มากนัก ทำให้ผู้ผลิตในประเทศต้องลดกำลังการผลิตลง จนส่งผลทำให้การใช้กำลังการผลิตในประเทศมีมากเกินความต้องการ

              และไม่สามารถใช้กำลังการผลิตเต็มที่ (Under Utilization) ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตและทำให้ต้นทุนสูง แข่งขันกับเหล็กจากต่างประเทศได้ยาก รวมทั้งเพื่อป้องกันการย้ายเครื่องจักรเก่าจากต่างประเทศมาทำการผลิตในประเทศไทย ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาด ทุกท้องที่ในราชอาณาจักร ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563

ศักดิ์ชัย ธนบดีจิรพงศ์

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ยังมีการนำเข้าเหล็กเส้นราคาต่ำจำนวนมาก ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศตลอดห่วงโซ่ จนถึงผู้รวบรวมเศษเหล็ก ดังนั้น การกำหนดมาตรการ Thailand Frist น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและการอยู่รอดของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบได้ โดยเฉพาะในช่วงที่อุตสาหกรรมนี้กำลังฟื้นฟูจากวิกฤติไวรัส

              ผมว่าวันนี้ อาจถึงเวลาที่รัฐจะต้องออกแรงอย่างหนักในทุกรูปแบบ เพื่อพยุงอุตสาหกรรมนี้ในประเทศ จากผลกระทบรอบด้าน ในวันนี้เราจะเห็นว่าอุปสงค์การใช้เหล็กในประเทศลดลงอย่างมาก บางส่วนก็ต้องยอมรับว่ามาจากการปรับตัวของภาคเอกชนเอง แต่ส่วนที่หนักมากมาจากการค้าที่ไม่แฟร์ ที่รัฐบาลประเทศคู่แข่งให้การสนับสนุนผู้ผลิตของเขา ทำให้มีการนำเข้ามาในราคาที่ต่ำมาก จนทำให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตเราไม่สามารถสู้ได้แม้กระทั่งในตลาดในบ้านเราเองด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศคู่ค้ายังปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของเขาในทุกรูปแบบ จนเราไม่สามารถแข่งขันในการส่งออกได้ ผมว่าวันนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องใช้มาตรการ “Thailand first” เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้มีความหวังในการอยู่รอดขึ้นมาบ้างในช่วงลำบากนี้ เพื่อมีแรงเผชิญศึกการกีดกันจากประเทศคู่แข่งและระบบการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เคยแฟร์ในอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้วิกฤติไวรัสที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้นในเร็ววัน หากไม่ใช้มาตรการนี้ในขณะที่ชาวบ้านเขาใช้กันทั่ว เราก็เหนื่อยละครับ